ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ โรงเรียนชุมชนใหม่ ขยายผลหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 3 โรงเรียนชุมชนรายรอบ
          เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการจัดกิจกรรม “ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ร่วมกับ โรงเรียนชุมชนใหม่ นำโดย นายไฟซอล ยีโกบ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนใหม่ และคณะครู พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและครูโรงเรียนเครือข่ายร่วมพัฒนา จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ 1) นางสิริลักษณ์ มิตรกระจ่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งชน 2) นายมนต์ชัย อินมณเฑียร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขุนทะเล และ3) นางสุไกนะฮฺ ดารามั่น พิศสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลอนุสรณ์ ณ โรงเรียนชุมชนใหม่ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
           “โครงการพัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่ และโรงเรียนพื้นที่ชุมชนรายรอบ” ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2564 ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทักษะอาชีพผู้ประกอบการ มีการบูรณาการการเรียนการสอนแก่นักเรียน สู่การพัฒนาต้นแบบหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน และสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดความรู้การนำหลักสูตรฯ ไปเผยแพร่ขยายพื้นที่ในโรงเรียนรายรอบ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัก (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายข้อที่ 4 “Quality Education” ส่งเสริมทำให้ได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและนอกของมหาวิทยาลัย
           โดยการดำเนินการของโครงการที่ผ่านมา มีการดำเนินการตามแผนกิจกรรม ได้แก่ 1) ประเมินหลักสูตรฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ นักการศึกษา กรรมการสถานศึกษา และผู้บริหาร คณะครูโรงเรียน เป็นต้น  2) ปรับปรุงหลักสูตรฯ เพื่อจัดการองค์ความรู้และพัฒนาแผนการสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดความรู้ไปยังโรงเรียนพื้นที่ชุมชนรายรอบ ด้วยกระบวนการวิทยากรครูพี่เลี้ยง 3) ดำเนินงานตามแผนหลักสูตร ซึ่งมีโครงสร้างการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หน่วยการเรียนรู้หลักสูตร ช่วงชั้นที่ 1 – ช่วงชั้นที่ 3 เริ่มตั้งแต่รู้จักตนเองและผู้อื่นอย่างพอเพียง ครอบครัว ชุมชนพอเพียง ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (Social enterprise) โดยให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ ในปีการศึกษา เทอม 2/2563 และขณะนี้อยู่ในช่วงแผนงานสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดความรู้หลักสูตรฯ สู่โรงเรียนพื้นที่ชุมชนรายรอบ โดยระหว่างวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2564 คณะทำงานโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่
     (1) โรงเรียนบ้านทุ่งชน ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีฯ
     (2) โรงเรียนบ้านขุนทะเล ต.กะหรอ อ.นบพิตำ จ.นครศรีฯ
     (3) โรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลอนุสรณ์ ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีฯ 
          โดยได้ปรึกษาแนวทางความเป็นไปได้ สำรวจพื้นที่ฐานการเรียนรู้ ร่วมกำหนดแผนเชิงบริหาร ยุทธศาสตร์และวิธีดำเนินการ ตลอดจนประชุมร่วมกับครูสร้างความเข้าใจ กำหนดแผนปฏิบัติงาน และร่วมพิจารณารูปแบบงาน ด้วยกระบวนการวิทยากรครูพี่เลี้ยงโรงเรียนต้นแบบ โดยทั้ง 3 โรงเรียน พร้อมร่วมขับเคลื่อนขยายผลหลักสูตรฯ บนพื้นฐานบริบทพื้นที่และการเรียนการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน และสนใจจะมาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนชุมชนใหม่ ในฐานะโรงเรียนแกนนำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเต็มรูปแบบ
          ในการนี้ นายไฟซอล ยีโกบ ผู้อำนวยการโรงเรียนเรียนชุมชนใหม่ ในฐานะโรงเรียนแกนนำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้กล่าวต้อนรับ และนำเสนอผลการดำเนินงานการพัฒนาหลักสูตรฯ ปี 2563 “พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ฯ ควบคู่จัดทำหลักสูตรฯ” พร้อมทั้ง อาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้นำเสนอความเป็นมาโครงการ บทบาทของมหาวิทยาลัย และแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาหลักสูตรฯ ปีที่ 2 นอกจากนี้ เปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการทำงาน กระบวนการทำงาน และปัจจัยความสำเร็จของการขับเคลื่อนและพัฒนาหลักสูตรฯ รวมทั้งชมการแสดงนิทรรศการผลงานของนักเรียนและคณะครู ซึ่งมีการแสดงความสำเร็จของหลักสูตรฯ และนิทรรศการมีชีวิต “การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม” หลังจากนั้นคณะผู้บริหารและครู ได้เข้าเยี่ยมชม “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา โรงเรียนชุมชนใหม่”จากการประชุมแลกเปลี่ยนฯ คณะผู้บริหารทั้ง 3 โรงเรียน พร้อมเป็นโรงเรียนเครือข่ายร่วมพัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอนำไปสังเคราะห์เพื่อพัฒนาความร่วมมือและถ่ายทอดความรู้การนำหลักสูตรฯ ไปใช้และเผยแพร่ขยายพื้นที่ในโรงเรียนรายรอบ ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป
จำนวนคนดู: 108