ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดโครงการ วลัยลักษณ์บูรณาการ “ท่าศาลาเมืองน่าอยู่” ทะเลสุข คนก็สุข ณ หาดบ่อนนท์ ต.ท่าศาลา ประจำปี 2562 ได้รับการตอบรับด้วยดีจาก ส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่อำเภอท่าศาลา

          วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ดำเนินโครงการบริการวิชาการในรูปแบบพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน เพื่อการสอดรับวิสัยทัศน์เป็นหลักในถิ่น โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนภาควิชาการ ภาครัฐ และเอกชน ผ่านโครงการ วลัยลักษณ์บูรณาการ “ท่าศาลาเมืองน่าอยู่” (Thasala model :Smart and smile city) ทะเลสุขคนก็สุข ณ หาดบ่อนนท์ หมู่ที่ 10 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

          โอกาสนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม เป็นประธานเปิดกิจกรรม โดยมีนายชัยศักดิ์ สุจริตธนารักษ์ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองปฏิบัติหน้าที่แทนนายอำเภอท่าศาลา และนายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการกล่าวรายงาน โดยศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม กล่าวว่า กิจกรรมทะเลสุข คนก็สุขภายใต้โครงการวลัยลักษณ์บูรณาการ”ท่าศาลาเมืองน่าอยู่” จัดขึ้นเพื่อสรุปผลงานโครงการวิชาการรับใช้สังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชายฝั่ง อำเภอท่าศาลา โดยโครงการจำนวนมากได้ดำเนินการในรอบปี เช่น โครงการธนาคารปูม้าเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรประมง โครงการเสริมสร้างรายได้จากการแปรรูปปลาจวดซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นชนิดเด่นที่พบในบริเวณอำเภอท่าศาลา โครงการเตาอบพลังคลื่นไมโครเวปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแปรรูปสินค้าทะเล โครงการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านแหลมโฮมสเตย์ โครงการส่งเสริมรักษาสุขภาพลานกีฬาปาบึก หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และสมุนไพรไล่ยุง การส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านทักษะภาษาอังกฤษให้กับชุมชนเพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งโครงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอื่นๆ ตามความต้องการของชุมชน เช่น ไข่ค็ม ไข่เยี่ยวม้าเป็นต้น  โดยจากการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี ชุมชนบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลาได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรอันดับ 1 ของประเทศไทย และได้รับพระราชทานโล่จากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในปี พ.ศ. 2562 กิจกรรมส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัยยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดย ศูนย์บริการวิชาการมีเป้าหมายการดำเนินงานครอบคลุม 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วยด้านอาชีพ สุขภาพ การศึกษา ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม โดยมีโมเดล ต้นไม้แห่งความสุข ( Happy tree ) เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืน

          นอกจากนี้ในงานยังมีกิจกรรมสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งของอำเภอท่าศาลาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความตระหนักต่อ นักศึกษา บุคลากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประชาชน เยาวชนตลอดจนผู้ประกอบการ ในการช่วยกันดูแล รักษาสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล ให้สะอาด น่าอยู่ น่าเที่ยวโดยเน้นความยั่งยืน และการดำเนินกิจกรรมตามโครงการได้รับความร่วมมือในการร่วมจัดจากหน่วยงานภายนอกประกอบด้วย อำเภอท่าศาลา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา สถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าศาลา เทศบาลตำบลท่าศาลา โรงพยาบาลท่าศาลา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าขึ้น โรงเรียนท่าศาลา โรงเรียนบ้านท่าสูง โรงเรียนอนุบาลสระแก้ววิทยา โรงเรียนโมคลานประชาสรรค์ และหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย  สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ขยะอันตรายและขยะทั่วไป ส่วนบริการกลาง ส่วนอำนวยการและสารบรรณ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ สำนักวิชาการจัดการ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร นอกจากนั้นยังมีภาคเอกชนเข่าร้วม ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน กลุ่มปลาดุกร้าท่าซัก โดยได้รับความสนใจอย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ทั้งเยาวชน ประชาชน ส่วนราชการต่างๆ นักศึกษา บุคลากร โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการประมาณ 700 คน จากทุกภาคส่วน และในโอกาสนี้ศูนย์บริการวิชาการได้รับความร่วมมือดำเนินโครงการมหกรรมสุขภาพ โดยมีกิจกรรมตรวจวัดความดันโลหิต อัคคีภัยใกล้ตัว นวัตกรรมสุขภาพ การปฐมพยาบาลช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) การปฐมพยาบาลสัตว์มีพิษ การทำความสะอาดแผล การทำยาดมสมุนไพร การแก้ปัญหาไข้เลือดออก สติ๊กเกอร์สื่อสาร ขยะ ยุงลาย และไข้เลือดออก และเกมส์ถามตอบมีรางวัล รวมทั้งการให้ความรู้การดูแลสุขภาพด้านต่างๆให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการรวบรวมสำนักวิชา และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นการฝึกนักศึกษา และเตรียมความพร้อม สำหรับการให้บริการแก่ชุมชน ตลอดจนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสำนักวิชาต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่ง

จำนวนคนดู: 86