ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์จัดประชุมวิชาการระดับชาติ “วิชาการรับใช้สังคม ครั้งที่ 2” นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั่วภาคใต้เข้าร่วม

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศูนย์บริการวิชาการ จัดประชุมวิชาการระดับชาติ “วิชาการรับใช้สังคม ครั้งที่ 2” ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนงานวิจัยและบริการวิชาการด้านรับใช้สังคม นำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่สังคม เพื่อยกคุณภาพชีวิตชุมชนต้นแบบอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบาย : มหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวรายงาน โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา มิ่งฉาย อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “แนวทางขับเคลื่อนสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนต้นแบบ” พร้อมด้วยคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษาและบุคลากรในเครือข่ายภาคใต้ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก 

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า งานวิจัยถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการพัฒนาประเทศ ซึ่งนักวิชาการหรือสถาบันการศึกษาในประเทศไทย คือ กำลังสำคัญในการรวบรวมองค์ความรู้ และการศึกษาวิจัยที่มีประโยชน์ ทั้งนโยบายภาครัฐ Thailand 4.0 ที่ต้องการให้งานวิจัยรับใช้สังคมและประเทศ เป็นงานวิจัยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ประเทศที่พัฒนาล้วนขับเคลื่อนได้ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่ทันสมัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการโดยส่งเสริมให้มีการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านรับใช้สังคม สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายนอก โดยมีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบุกเบิก แสวงหาบำรุงรักษาและถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างสรรค์ จรรโลงความก้าวหน้าความเป็นเลิศทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมสืบไป  

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับชาติ “วิชาการรับใช้สังคม ครั้งที่2” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน การวิจัยและบริการวิชาการด้านรับใช้สังคม ให้กับคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษาและบุคลากรในเครือข่ายภาคใต้ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและกระบวนการดำเนินงานวิชาการรับใช้สังคม อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่สังคม การใช้ประโยชน์เพื่อยกคุณภาพชีวิตชุมชนต้นแบบอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วิชาการรับใช้สังคม” ในครั้งนี้ ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบบรรยายและรูปแบบโปสเตอร์ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการ Terminal 24 นิทรรศการการเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการรับใช้สังคม ตามแนวคิด “ต้นไม้แห่งความสุข Happy Tree Model ชุมชนอยู่ดีมีสุขแบบองค์รวม” ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติอาชีพ สุขภาพ การศึกษา ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมและมิติสังคมวัฒนธรรม สำหรับการนำเสนอผลงานวิชาการ มีผู้ส่งผลงานแบบบรรยายและโปสเตอร์ จำนวน 39 ผลงานจากสถาบันการศึกษาทั่วภาคใต้ ได่แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตนครศรีธรรมราช(ไสใหญ่) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่และวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

ข่าวและภาพ ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

จำนวนคนดู: 22