ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือนด้วยการหมักร่วมระหว่างมูลสุกรและเศษเหลือในท้องถิ่นพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม ได้ลงพื่นที่สำรวจและเก็บตัวอย่าง

          เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย  รักมาก และนักศึกษา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจและเก็บตัวอย่างมูลสุกรและของเสียที่มีในชุมชน ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
          โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือนด้วยการหมักร่วมระหว่างมูลสุกรและเศษเหลือในท้องถิ่น ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 บนพื้นฐานแนวคิดในการดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic model) ครอบคลุม 5 มิติหลัก ได้แก่ อาชีพ การศึกษา สุขภาพ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม ภายใต้แบบจำลองชื่อว่า ต้นไม้แห่งความสุข (Happy tree model) ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการชุมชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว พบว่า ฟาร์มสุกรในชุมชนยังขาดการบริหารจัดการมูลสุกรและของเสียอย่างถูกวิธี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและนิเวศชุมชน ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยจัดทำระบบก๊าซชีวภาพใช้เทคนิคการหมักร่วมของวัตถุดิบตั้งต้น 2 ชนิดร่วมกัน มุ่งเป้าหมายศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมูลสุกรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพร่วมกับเศษเหลือในชุมชน ซึ่งหากมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ หรือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกรให้ดีขึ้นอีกด้วย โครงการดังกล่าวมีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และสำนักกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร ในการเข้ามามีส่วนร่วมกระบวนการดำเนินโครงการ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563

 ิ         ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหัวหน้าโครงการ และคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจมูลสุกรและของเสียในฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จำนวน 3 ฟาร์ม โดยได้เก็บตัวอย่างมูลสุกรและของเสียต่าง ๆ ตลอดจนศึกษาข้อมูลทั่วไป สภาพการเลี้ยงสุกรของเกษตรกร และโครงสร้างพื้นฐานของฟาร์ม ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯจะนำข้อมูลดังกล่าวไปทำการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางกายภาพและทางเคมี ประเมินความเป็นไปได้ในการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียเหล่านั้น และประเมินความพร้อมของเกษตรกรต้นแบบ เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบระบบการผลิตก๊าซชีวภาพในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป

จำนวนคนดู: 122