ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร เดินหน้า ยกระดับฟาร์มสุกรรายย่อยชุมชน “พัฒนาต้นแบบการผลิตอาหารสุกรแม่พันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”

         ระหว่างวันที่ 17 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยอาจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย และนักศึกษา สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ สำนักกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูล จดบันทึกฟาร์มการผลิตสุกรแม่พันธุ์ ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช “โครงการพัฒนาสูตรอาหารสุกรแม่พันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องอาหารสัตว์ พร้อมทั้งพัฒนาต้นแบบการผลิตอาหารสำหรับแม่สุกรเลี้ยงลูกให้ได้อาหารสุกรคุณภาพ และผลผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้

          ในการนี้ อาจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย ในฐานะหัวหน้าโครงการ นำโครงการบริการวิชาการมาบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนของนักศึกษาหลักสูตรเกษตรศาสตร์ วิชาเอกสัตวศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มเกษตรกรที่จะพัฒนาเป็นต้นแบบการผลิตอาหารสำหรับแม่สุกรเลี้ยงลูกให้ได้อาหารสุกรคุณภาพ จำนวน 10 ราย ได้ดำเนินกิจกรรมหลัก ดังนี้ 

1. เก็บข้อมูลฟาร์มเชิงลึก เกี่ยวกับการจัดการโรงเรือน การตรวจสัดและผสม การคัดเลือกพันธุ์สุกรและแผนการผลิตสุกร การให้อาหาร การเลี้ยงดูสุกรแม่พันธุ์และการจัดการตามแต่ระยะ การจัดการสภาพแวดล้อม การจัดการสุขภาพและภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ในเบื้องต้นพบประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข ดังนี้ 1) การทดแทนแม่สุกรพันธุ์ 2) เพิ่มอัตราการผสมพันธุ์ติด 3) เพิ่มน้ำหนักลูกสุกรหย่านม 4) การจัดการสุขภาพแม่พันธุ์ 5) การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในและรอบฟาร์ม และ6) การจดบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ 

2. จดบันทึกฟาร์มการผลิตสุกรแม่พันธุ์ จัดทำบัตรประจำตัวแม่สุกร (Sow card) ซึ่งนักศึกษาได้ทำการบันทึกข้อมูลสุกรแม่พันธุ์รายตัว จำนวนทั้งสิ้น 30 ตัว (จำนวน 10 ฟาร์ม) ประกอบด้วยข้อมูลได้แก่ แหล่งที่มา สายพันธุ์ วันเกิดของสุกร ประวัติการผสม วันคลอด จำนวนลูก และการหย่านม เพื่อสามารถติดตามความสมบูรณ์พันธุ์ ศักยภาพการให้ผลผลิตของสายพันธุ์ เพื่อประเมินถึงผลผลิตในปัจจุบัน ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการพัฒนาศักยภาพของสุกรที่อยู่ฟาร์มได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ 

3. บริการให้คำปรึกษาเรื่อง “การให้อาหารสุกรแม่พันธุ์ที่เหมาะสมแต่ละระยะ” ทั้งนี้ คณะทำงานจะนำข้อมูลเบื้องต้นจากการลงพื้นที่ดังกล่าว ประชุมสรุปเพื่อออกแบบและทดสอบสูตรอาหารสุกรจากวัสดุในท้องถิ่น ในขั้นการดำเนินงานต่อไป

 

จำนวนคนดู: 76