ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ จัดกิจกรรม“หมอยาเคลื่อนที่เชิงรุก ยกทีมเสริมสุขภาพที่ดี เน้นใช้ยาถูกวิธีปลอดภัยในชุมชน”

       ระหว่างวันที่ 15 – 21 พฤษภาคม พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์.ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช ผศ.ดร.ศรีรัตน์ กสิวงศ์ ผศ.ดร.สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์ และอาจารย์เทวา จึงวัฒนกิจ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษา และเสนอแนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และความรู้เกี่ยวกับการใช้แพทย์ทางเลือก ยาสมุนไพร ในกลุ่มผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง พร้อมทั้งมอบวัสดุอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

          โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 มุ่งเน้นให้ชุมชนเกิดองค์ความรู้เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพรเพื่อสุขภาวะด้านสุขภาพ รวมถึงให้ความรู้ใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัยในกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ดูแลผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมการรวมกลุ่มองค์กรชุมชน สามารถผลิตได้เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน ท้องถิ่นเพื่อเป็นสินค้าของชุมชน และสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและประเมินคัดกรองสภาพปัญหาภาวะสุขภาพชุมชน และการใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัยในกลุ่มผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง (ร่วมกับสำนักวิชาสหเวชศาสตร์) จำนวน 12 ราย ได้เก็บข้อมูลแบบบันทึกและประเมินการใช้ยาของผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพใน กลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น และการใช้ยาที่ยังไม่สมเหตุสมผล การจัดการอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อด้วยการใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการโดยซื้อยามารับประทานเอง หากใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม และติดต่อเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลตามมาในระยะยาว

          ในการนี้ อาจารย์.ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช ในฐานะหัวหน้าโครงการและคณะได้นำข้อสรุปปัญหาดังกล่าว ดำเนินการลงพื้นที่ ซึ่งบริการให้คำปรึกษา ดังนี้  1) ด้านการใช้ยาที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ยังขาดความร่วมมือในการรับประทานยา จึงได้ออกแบบกระบวนการดึงผู้ดูแลผู้ป่วยร่วมวางแผนการรับประทานยาของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงยากต่อการหักเม็ดยา ส่วนใหญ่ใช้มีด แต่ทำให้เม็ดยากระเด็นอาจเกิดความเสียหายต่อยาได้ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง จึงได้มอบอุปกรณ์ช่วยตัดแบ่งเม็ดยา 2) ด้านการเก็บรักษา ส่วนใหญ่การเก็บยาใส่ถุงพลาสติกหลายถุงตามโรค กระจายซองยาบนโต๊ะ ดังนั้น จึงให้คำแนะนำเรื่องการจัดเรียงยาในภาชนะที่เหมาะสมและแยกของจากของใช้ประเภทอื่น พร้อมมอบอุปกรณ์ตะกร้าจัดเก็บ และ3) การปฏิบัติตัวจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมมอบอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์  ทั้งนี้ คณะทำงานจะลงพื้นที่เพื่อติดตามผลลัพธ์การดำเนินงาน รวมทั้งหารือคณะทำงาน ร่วมกับ รพ.สต. เพื่อทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาที่ถูกต้องปลอดให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน ในขั้นการดำเนินงานต่อไป

จำนวนคนดู: 103