ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “ติดอาวุธทักษะอาชีพนักเรียน มากกว่า 10 อาชีพ” ด้วยกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 1 ชั้น 1 อาชีพ

          เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยอาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ จัด “การประชุมการจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่” ณ ห้องประชุม ชั้น 1 โรงเรียนชุมชนใหม่ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

          “โครงการจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่” ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทักษะอาชีพผู้ประกอบการและบูรณาการการเรียนการสอนแก่นักเรียน 1  ชั้น 1

อาชีพ มีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 ที่ผ่านมาคณะทำงานได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรแกนกลาง ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา ประชุมปรึกษาแนวทางการจัดทำหลักสูตร จัดทำร่างแผนการเรียนรู้ ปรับปรุงร่างแผนการจัดการเรียนรู้ และคณะครูได้จัดทำหน่วยการเรียนรู้

          ในการนี้ อาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้จัดประชุมดังกล่าวขึ้น ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการ และคณะครูโรงเรียนชุมชนใหม่ ทั้งสิ้น 16 คน ประชุมครั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้นำเสนอภาพรวมแนวทางการ ปัจจัยความสำเร็จการจัดทำหลักสูตรฯ และความก้าวหน้าของโครงการ คณะทำงานโครงการได้สรุปบทบาทต่อการพัฒนาหลักสูตรฯ และตัวแทนครูแต่ละช่วงชั้นได้นำเสนอหน่วยการเรียนรู้ หลังจากนั้นเพื่อเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมได้ระดมสมองให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ พร้อมได้ร่วมกันนำเสนอแนวทางการพัฒนาหลักสูตรฯ ซึ่งการประชุมมีสาระสำคัญดังนี้ คือ

     1) แนวทางการจัดการเรียนการสอนหลังสถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนตามหลักสูตรฯ สามารถดำเนินการได้แต่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม

     2) ประเมินปัจจัยความสำเร็จสำคัญการจัดทำหลักสูตรฯ ได้แก่ ทีม/ภาคีเครือข่าย การมีส่วนร่วม การเรียน/องค์ความรู้ ความต่อเนื่องของนโยบาย งบประมาณ และการประเมินหลักสูตร เป็นต้น

     3) กำหนดและเลือกแผนหน่วยการเรียนรู้เพื่อนำมาทดลองและประเมินหลักสูตรฯ ซึ่งตัวแทนคณะครูแต่ละช่วงชั้นได้นำเสนอหน่วยจัดการเรียนรู้ จำนวน 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยการเรียนรู้เรื่องผักกินใบ หน่วยการเรียนรู้เรื่องถั่วฝักยาว และหน่วยการเรียนรู้เรื่องการแปรรูปไข่ไก่ มีหัวข้อประกอบด้วย คำอธิบายรายวิชา การจัดทำแผนบูรณาการกลุ่มสาระหลัก (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ) แผนการจัดกิจกรรมรายชั่วโมง โดยผู้เข้าร่วมการประชุมมีข้อเสนอให้ระบุตัวชี้วัดการเรียนให้ชัดเจน ทั้งนี้ คณะครูจะนำข้อเสนอแนะเพื่อประเมินความพร้อมในการเลือกหน่วยการเรียนรู้เพื่อทดลอง และใช้ในการประเมินหลักสูตร

     4) การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรฯ ประกอบด้วยกรรมการชุดที่ปรึกษา และคณะทำงาน โดยเสนอให้มีคำสั่งแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยเพื่อครูผู้สอนสามารถนำไปประกอบภาระงานและทำตำแหน่งวิทยฐานะวิชาชีพครู

          ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะรวบรวมข้อสรุปจากการประชุม เพื่อปรับหน่วยการเรียนรู้และดำเนินการจัดกิจกรรมตามแผนในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป

จำนวนคนดู: 95