ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

คณะกรรมการส่งเสริมกิจการประชาสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผนึกกำลังขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนเป้าหมาย “เพิ่มรายได้ สร้างงาน พัฒนาคน”

          ตามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการประชาสังคม โดยมีภารกิจสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนชุมชนในพื้นที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เกิดความเข้มแข็งแบบองค์รวมตามแนวทางต้นไม้แห่งความสุข WU Happy Tree ครอบคลุม ยกระดับอาชีพ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรม โดยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเชิงประจักษ์ ผ่านการกำหนดนโยบายและติดตามการดำเนินกิจกรรมการขับเคลื่อนยกระดับชุมชนโดยวิธีการวิชาการรับใช้สังคม ด้วยกระบวนการบูรณาการความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยบุคคลทั้งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานบริหารระดับท้องถิ่น ในพื้นที่ชุมชนรายรอบอำเภอท่าศาลา
          ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะคณะกรรมการและเลขานุการได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการ ให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการประชาสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการดําเนินงานของคณะกรรมการ โดยมี รองอธิการฝ่ายบริหาร (ประธานคณะกรรมการฯ) เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วย รองอธิการบดีฝ่ายต่าง ๆ ผู้บริหารระดับหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ รวมทั้ง หน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ ทั้งนี้ ศูนย์บริการวิชาการ ได้รายงานแนวคิดและแผนงานเพื่อยกระดับชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา และชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ศูนย์บริหารทรัพย์สิน ศูนย์สมาร์ทฟาร์ม ได้รายงานผลการดำเนินงานการส่งเสริมอาชีพ การสร้างงานราษฎรในชุมชนเป้าหมายของมหาวิทยาลัย
โดยที่ประชุมรับทราบและให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาและชุมชนรายรอบ มีสาระสำคัญการประชุม ดังนี้
     1) การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาและชุมชนรายรอบ โดยใช้แนวทางวิชาการรับใช้สังคม และพิจารณาเชิญผู้แทนสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรี และจากอำเภอท่าศาลา รวมทั้งจาก สปก. เข้าร่วมเป็นกรรมการฯ เพิ่มเติม
     2) พัฒนาต้นแบบแนวทางการพัฒนาชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ขยาลผลสู่ชุมชนชนรายรอบมหาวิทยาลัย ด้วยวิธีการวิชาการรับใช้สังคม มุ่งพัฒนาชุมชนให้อยู่ดีมีสุขแบบองค์รวม (Happy tree) เน้นยกระดับการสร้างความสามารถการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Economic improvement) สร้างงาน สร้างรายได้ ลดต้นทุน เน้นโครงการที่มีผลกระทบและดำเนินการต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน โดยเชื่อมโยงความต้องการของตลาด การเพิ่มมูลค่าผลผลิต รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรชุมชนในพื้นที่ และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (Human capacity development) มุ่งดูแลพัฒนาประชาชนในชุมชนทุกช่วงวัย วัยเรียน (ส่งเสริมให้เด็ก เก่ง ดี มีสุข) วัยทำงาน (พัฒนาทักษะใหม่ ๆ) วัยผู้สูงอายุ (คุณภาพชีวิตอย่างมีความสุข)
    3) แนวทางการสร้างงานของมหาวิทยาลัยต่อชาวชุมชนสาธิตฯ และชุมชนรายรอบ ได้แก่ การจ้างงานในมหาวิทยาลัย ร้านค้าชุมชนในมหาวิทยาลัย รวมทั้งทบทวนปัญหาอุปสรรค และถอดบทเรียนการดำเนินโครงการในอดีต เพื่อสนับสนุนการออกแบบการทำงานในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
     4) โจทย์ความต้องการของชุมชนที่สำคัญและเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมได้เสนอ ได้แก่
          4.1 การพัฒนาช่องทางจำหน่าย/จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนของดี อำเภอท่าศาลา 10 ตำบลในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยจะประสานพูดคุยแนวทางและความเป็นไปได้ต่อไป
          4.2 การพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาวะชุมชน ผ่านกลไกแหล่งทุน สสส. เพื่อพัฒนาขอทุนดำเนินงานร่วมกันระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่อไป
          4.3 ปัญหายาเสพติดกับเยาวชนในชุมชนรายรอบ และหารือร่วมในการดำเนินงานร่วมกันในมิติของการสร้างการรับรู้ผลกระทบของยาเสพติดด้วยวิธีการทางวิชาการ
          4.4 การพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์รอบสระน้ำหมู่บ้านซอย 11 ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งพักผ่อนใจกลางชุมชน ทางศูนย์บริการวิชาการมีแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อน และแหล่งสร้างรายได้ของชุมชนในอนาคต โดยรับประสานทำงานร่วมกับพื้นที่ต่อไป
          4.5 ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ และผู้นำชุมชน ได้แก่ ผู้นำชุมชนขอความอนุเคราะห์เครื่องปรับอากาศที่ปลดระวางของมหาวิทยาลัยสนับสนุนที่ทำการปกครองอำเภอท่าศาลา จำนวนหนึ่งชุด และคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งชุด สำหรับหมู่ที่ 5 ตำบลหัวตะพานซึ่งได้ประสานมาเป็นหนังสือแล้ว โดยมหาวิทยาลัยได้รับดำเนินการเร่งรัดประสานเพื่อจัดมอบต่อไป
     5) การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย กับหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ และชุมขน ในปัจจุบันเงื่อนไขการขอทุนวิจัยจากแหล่งทุนวิจัย เน้นให้ท้องถิ่น ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการ (Proposal) และเน้นวิธีการวิชาการรับใช้สังคม ตัวอย่างเช่น “โครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล ขณะนี้ ทางศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ คณาจารย์สำนักวิชาต่าง ๆ พร้อมด้วยหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ จำนวน 45 ตำบล ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณางบประมาณการดำเนินการจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

          ทั้งนี้ คณะทำงานเลขานุการ ฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการฯ ดังกล่าว เพื่อศึกษาและดำเนินงานแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

จำนวนคนดู: 56