ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผลักดัน ผลิตภัณฑ์ต้นแบบน้ำมันนวดและลูกประคบสมุนไพร ชูอัตลักษณ์ภูมิปัญญา สู่ตำรับยาสมุนไพรท้องถิ่น
          เมื่อวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2563 เวลา 13.00 – 16.30 น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยอาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ และอาจารย์ ดร.จารุภา เลขทิพย์ สาขากายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ปวดเมื่อยเมื่อใด ไว้ใจสมุนไพร ห่างไกลยาชุด” ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านทุ่งชน ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน” ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 เป็นโครงการเชิงบูรณาการที่ประกอบด้วยการเรียน การสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ มุ่งเน้นให้ชุมชนเกิดองค์ความรู้เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพรเพื่อสุขภาวะด้านสุขภาพกลุ่มเป้าหมายที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้แก่ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ผู้ดูแลผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมการรวมกลุ่มองค์กรชุมชน สามารถผลิตได้เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน ท้องถิ่นเพื่อเป็นสินค้าของชุมชน และสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 โดยการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและประเมินคัดกรองสภาพปัญหาภาวะสุขภาพชุมชน และการใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัยในกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ร่วมกับสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ พบว่า กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว มีปัญหาสุขภาพด้านความสามารถทางการเคลื่อนไหว มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้แรงในการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง นอกจากนี้ คนในชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และรับจ้าง จึงมีปัญหาอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน และมักใช้ยาชุดบรรเทาอาการ จากปัญหาดังกล่าวจึงร่วมกับชุมชน นำไปสู่การใช้สมุนไพรท้องถิ่นแก้ปัญหาสุขภาพดังกล่าว ลงพื้นที่สำรวจสมุนไพรท้องถิ่น เพื่อบูรณาการความร่วมมือออกแบบพัฒนาตำรับยาสมุนไพรสำหรับลดอาการปวดเมื่อย ตลอดจนมีกระบวนการร่วมออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ ตราสัญลักษณ์ที่เป็นอัตลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์
          ในการนี้ อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้จัดกิจกรรมอบรม “ปวดเมื่อเมื่อใด ไว้ใจสมุนไพร ห่างไกลยาชุด” ให้แก่แกนนำอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านทุ่งชน และประชาชนที่สนใจ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 65 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้การใช้ยาอย่างสมเหตุผล การรักษาอาการปวดเมื่อย ตลอดจนถ่ายทอดความรู้เชิงปฏิบัติการผลิตน้ำมันนวดสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพร ซึ่งมีกิจกรรมหลัก “ปวดเมื่อยเมื่อใด ไว้ใจสมุนไพร ห่างไกลยาชุด” ดังนี้
     1. “ปวดเมื่อยเมื่อใด” กิจกรรมให้ความรู้เรื่องปวดเมื่อย เน้นให้ความรู้สาเหตุของการปวดเมื่อย วิธีการรักษาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ พร้อมทั้งวิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากความเครียดหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เริ่มได้จากตนเองสามารถบรรเทาได้ด้วยสมุนไพรแบบวิถีชาวบ้าน โดยมีวิทยากร นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ และอาจารย์ ดร.จารุภา เลขทิพย์ สาขากายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ได้ฝึกโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อลดอาการปวดเมื่อยให้แก่ผู้เข้าร่วม
     2. “ไว้ใจสมุนไพร” กิจกรรมทำน้ำมันนวดและลูกประคบสมุนไพร โดยวิทยากรได้สาธิตวิธีการทำ และให้ผู้เข้าร่วมลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน  ผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพร และลูกประคบสมุนไพร ภายใต้แบรนด์ “Happy Herb” สุขกายสุขใจด้วยสมุนไพรท้องถิ่น ตามแนวคิดการทำงานวิชาการรับใช้สังคมระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม (Holistic model) โดยยึดเป้าหมายสร้างชุมชนอยู่ดีมีสุขแบบองค์รวม โดยใช้แบบจำลอง ต้นไม้แห่งความสุข (Wu Happy tree) ซึ่งประกอบด้วย 5 กิ่งสาขา ได้แก่ อาชีพดี สุขภาพดี ทรัพยากรและ สิ่งแวดล้อมดี การศึกษาดี และสังคมวัฒนธรรมดี ดังนั้น ผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพร และลูกประคบสมุนไพร “Happy Herb” จึงเป็นกิ่งก้านหนึ่งที่มีประยุกต์ใช้องค์ความรู้ สมุนไพรในพื้นที่เพื่อรักษาโรคปวดเมื่อย และส่งเสริมสุขภาพ
     3. “ห่างไกลยาชุด” กิจกรรมให้ความรู้เรื่องยาชุด ให้ความรู้ในเรื่องเบื้องต้นของยาชุด อันตรายผลข้างเคียงจากการใช้ยาชุด พร้อมให้คำแนะนำในการซื้อยา
          ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะดำเนินการนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบดังกล่าว ร่วมใช้ในการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุร่วมกับโปรแกรมบรรเทาอาการปวดเมื่อยและยกระดับมาตรฐานการรับรองและคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพร และการรวมกลุ่มชุมชนเพื่อผลิตร่วมกัน ในการดำเนินการขั้นต่อไป
1882563 กิจกรรมสมุนไพร รพ_26.สต.บ้านทุ่งชน_๒๐๐๘๒๒
จำนวนคนดู: 66