ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

วช. จับมือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ต่อยอดกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
          ด้วย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ “โครงการสร้างนักพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมเพื่อการพัฒนาชุมชนด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี เป็นโครงการสนับสนุนการจ้างงานและพัฒนาทักษะนักศึกษา บัณฑิตที่จบใหม่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤต พร้อมยกระดับเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) เพื่อเป็นกลไกสร้างรายได้ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 30 อัตรา ระยะเวลา 4 เดือน ในบทบาทหน้าที่ผู้ประสานงานนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน ตั้งแต่การจัดต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มวิสาหกิจ และพื้นที่ดำเนินการพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนี้
     1. กลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงสุกรครบวงจร ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา
     2. กลุ่มวิสาหกิจกลุ่มปลูกปากพนังปลอดภัย ต.ป่าระกำ อ.ปากพนัง
     3. กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์จากและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศครบวงจร ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง
ในระหว่างวันที่ 1 – 31 สิงหาคม พ.ศ.2563 ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 3 พื้นที่ ได้ดำเนินการกิจกรรมสำคัญได้แก่
     1) กิจกรรมอบรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการทำงานให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ อาทิ การวิเคราะห์และแก้ปัญหาชุมชน การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม และทักษะทางวิทยาศาสตร์และสังคมเฉพาะด้าน เป็นต้น
     2) กิจกรรมสร้างความสนิทสนมกับชุมชน ผ่านกิจกรรมวิชาการรับใช้สังคม ที่มีการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสร้างความสนิทสนม กับผู้นำ แกนนำของชุมชนและคนในชุมชนหลากหลายมิติแบบองค์รวม ตั้งแต่ อาชีพ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรม
     3) กิจกรรมลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจ ศึกษาวงจรการประกอบธุรกิจของกลุ่ม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มวิสาหกิจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนงานวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดทำแผนในการส่งเสริมและพัฒนาผลกระทบในทางที่ดีแก่ชุมชน ได้แก่ แผนการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจ แผนการส่งเสริมพัฒนาวิสาหกิจในด้านต่าง ๆ
          จากการดำเนินการดังกล่าว คนในชุมชนให้การตอบรับโครงการเป็นอย่างดี ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความสนิทสนมกับกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจ สามารถเข้าใจ เข้าใจ และพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาต่อยอดกลุ่มวิสาหกิจในการดำเนินการขั้นต่อไป 
จำนวนคนดู: 89