ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ ยกระดับระบบบริการทางสุขภาพแก่ชุมชน ด้วย ภาคีเครือข่ายพัฒนาสุขภาพเชิงพื้นที่
          เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยตัวแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ เข้าร่วมประชุม “คณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา/คณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่” เพื่อวางแผน พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. ให้ได้คุณภาพมาตรฐานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน/องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาระบบบริการทางสุขภาพแก่ประชาชน ณ ห้องประชุม รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
           ในการนี้ นายสมโชค นงค์นวล ผู้อำนวยการ รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ได้นำเสนอและหารือการแต่งตั้งคณะกรรมการ นโยบายการพัฒนา รพ.สต. ตามมาตรฐาน รพ.สต.ติดดาว ตลอดจนเปิดเวทีแลกเปลี่ยนให้คณะกรรมการฯ ภาคีเครือข่ายฯ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ ท้องถิ่น ท้องที่ สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน อสม. และประชาชน ได้ติดตามความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค แผนงานในปี 2563 พบว่า รพ.สต. ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น รถเข็น เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เครื่องวัดความดันโลหิต เป็นต้น พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้หารือแผนพัฒนาระบบสุขภาพแบบบูรณาการจากภาคีเครือข่าย ในปี 2654 โดยหน่วยงานเข้าร่วมได้เสนอแนวทางการทั้งด้านโครงสร้าง งบประมาณ การสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
           ทั้งนี้ ตัวแทนศูนย์บริการวิชาการ ได้นำเสนอแผนงานวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ประจำปี 2564 เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพแบบบูรณาการ พื้นที่เป้าหมายชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ซึ่งได้พัฒนาข้อเสนอโครงการจากความต้องการของชุมชน หน่วยงาน รพ.สต. และความร่วมมือกับสำนักวิชาต่าง ๆ เพื่อร่วมดำเนินการในพื้นที่ จำนวน 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1) การพัฒนาเครือข่ายและระบบการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน  2) การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน  และ3) การพัฒนาสุขภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน (การป้องกันโรคเมลิออยด์ในสุกรและเกษตรกรฟาร์มสุกร / สมรรถภาพร่างกายและส่งเสริมความรู้) พร้อมทั้งให้คำปรึกษา ช่วยเหลือประสานและแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และองค์ความรู้ วิชาการเพื่อสามารถตอบโจทย์การพัฒนาด้านสุขภาพในพื้นที่ให้มีหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย (Good health and Well-being) บนพื้นฐานการทำงานแบบเชิงบูรณาการภาคีหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnerships for the Goals) ตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
จำนวนคนดู: 26