ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารบนฐานอัตลักษณ์ชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) : มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          ตามที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ และสำนักวิชาต่าง ๆ ดำเนินการ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)” มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็น System Integrator เพื่อให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาปัจจุบัน ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน โดยกิจกรรมของโครงการฯที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ครอบคลุมการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ (การยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่น ๆ) การสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว) การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ) และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียน) ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินทั้งหมด จำนวน 36 ตำบล ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร และ จังหวัดกระบี่ 
          การดำเนินงานโครงการในช่วง 4 เดือนผ่านมา คณะทำงานและผู้ปฏิบัติงานของโครงการฯ ได้ดำเนินการเตรียมทีมงานและทำความเข้าใจโจทย์ ลงพื้นที่สร้างความสนิทสนมกับชุมชน หน่วยงานกลไกหลักในพื้นที่ รวมทั้งการวิเคราะห์และเข้าใจบริบทของพื้นที่ นำไปสู่การการกำหนดประเด็นการพัฒนาและวางแผนการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้ อยู่ในช่วงของการลงมือปฏิบัติและปรับปรุงกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตามกรอบการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการกิจกรรมรายตำบล
          พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการดำเนินกิจกรรม “การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่”  ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารบนฐานอัตลักษณ์ชุมชน มุ่งเป้าพัฒนาสินค้า (Product) และบริการตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตามความต้องการของตลาด สู่เป้าหมายยกระดับตำบลให้ดีขึ้น คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัก (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายข้อที่ 1 “No Poverty” ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่ เป้าหมายข้อที่ 8 “Decent work and Economic Growth” ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำ และการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและนอกของมหาวิทยาลัย
          กิจกรรมการยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารสินค้าบนฐานอัตลักษณ์ชุมชน เป็นความร่วมมือระหว่าง คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย ประชากรกลุ่มเป้าหมาย และหน่วยงานภาคี ซึ่งพัฒนาโจทย์จากความต้องการของชุมชนที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาวัตถุดิบราคาตกต่ำ การยืดอายุการเก็บรักษา และเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร โดยหลายตำบลกำลังดำเนินการจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) การตรวจวิเคราะห์ทดสอบทางด้านกายภาพและคุณค่าทางโภชนาการในห้องปฏิบัติการ ด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น การอบการตากแห้ง การดอง การทำเค็ม การหมัก เป็นต้น ผสมผสานเอกลักษณ์วิถีสะท้อนความเป็นชุมชน วัตถุดิบที่หลากหลายและโดดเด่นในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งวัตถุดิบหลักของตำบลเครือข่ายมาร่วมรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งการยกระดับผลิตภัณฑ์เดิม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ด้วยการสร้างแบรนด์ (Branding) หรือการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า ทำให้ตลาดรู้จักสินค้าของผู้ผลิต และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นหรือสร้างสรรค์ ทั้งพัฒนาตราสินค้า ฉลาก บรรจุภัณฑ์ อาทิ
          คณะทำงานโครงการฯ จะนำเสนอต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) ร่วมกับชุมชน รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้าสู่การรับรองมาตรฐาน การให้ความรู้ด้านโมเดลธุรกิจ การบริหารธุรกิจ และส่งเสริมการตลาดทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ ในขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป
          ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอาหารทะเล จะนำวัตถุดิบอาหารทะเลที่มีในพื้นที่ ปู กุ้ง ปลา ปลาหมึก ฯลฯ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งขนม ของทานเล่น ของปรุงรส เช่น ตำบลในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลอย่างตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร ซึ่งนำวัตถุดิบจากทะเลมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบปลาจวดสมุนไพร ขนมทองพับกุ้งเสียบ ผงโรยข้าวกุ้ง ตำบลใกล้เคียงอย่าง ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ปลาหยอง น้ำพริกปลาหยองแบบเปียก น้ำพริกปลาหยองแบบแห้ง ปลาแผ่นทอดกรอบ ส่วนตำบลท่าพยา อำเภอปากพนังนำเสนอผลิตภัณฑ์เป็นชุดซี่รีย์น้ำพริก ได้แก่ น้ำพริกกุ้งกรอบ น้ำพริกเครื่องแกงกุ้งกรอบ น้ำพริกคางกุ้ง น้ำพริกปลาเส้น น้ำพริกปูกรอบ ที่มีทั้งความหลากหลายของรสชาติและวัตถุดิบ
 
190213950_177946917664168_5237814200345115889_n
          ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักและผลไม้ ที่นำวัตถุดิบจากสินค้าทางการเกษตรอย่าง “ฝรั่งบางสุขี” ผลไม้ที่มีชื่อเสียงของตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นฝรั่งสดที่มีรสชาติเฉพาะถิ่น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ฝรั่งแช่บ๊วยอบแห้ง ฝรั่งแช่อิ่มอบแห้ง และฝรั่งโรล เป็นต้น 
          
            ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ พื้นที่ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา เกษตรกรที่เลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมากที่มีความเสี่ยงกับราคาตลาดที่มีความผันผวน จึงเกิดโจทย์เพื่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ค้นหาเมนูอร่อย เช่น หมูสวรรค์แท่ง ไส้กรอกหมู และหมูยอ เพื่อสร้างช่องทางอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่สมาชิกในชุมชน
         
จำนวนคนดู: 570