ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มสุกร (Farm biosecurity) พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T): มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ลงพื้นที่เก็บข้อมูลโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล
ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มสุกร (Farm biosecurity) พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T): มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
          ระหว่างวันที่ 7  – 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T): ตำบลไทยบุรี ได้ลงพื้นที่และประชุมติดตามผลการประเมินสุขภาพสุกรและระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์ม (Farm biosecurity) เพื่อป้องกันมิให้โรคแพร่ระบาดติดต่อถึงสุกรของเกษตรกร ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
          โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T): มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พื้นที่ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) กิจกรรมยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐาน 2) กิจกรรมพัฒนายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสุกร และ3) กิจกรรมด้านสุขภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน ครอบคลุมประเภทกิจกรรมทั้งการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ (การยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่น ๆ) และกิจกรรมการนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care) โดยมุ่งเน้นปรับปรุงอาชีพการเลี้ยงสุกรตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ตลอดจนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้เกิดรายได้และผลผลิตที่เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการตลาด สู่เป้าหมายยกระดับตำบลให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายข้อที่ 1 “No Poverty” ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่ เป้าหมายข้อที่  3 “Good Health and Well-being” ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ เป้าหมายข้อที่ 8 “Decent work and Economic Growth” ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำ และการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและนอกของมหาวิทยาลัย
          ในการนี้ การดำเนินกิจกรรมยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ฯ นำโดย อาจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย และคณะทำงานโครงการฯ ได้ประเมินแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อถึงสุกรยังน่าเป็นห่วง มีการระบาดในหลายพื้นที่ ซึ่งหากเกิดกับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจะสร้างความเสียหายและผลกระทบในวงกว้าง จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกป้องกันโรคติดต่อถึงสุกร ด้วยการยกระดับมาตรฐานระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์ม (Farm biosecurity) เพื่อป้องกันมิให้โรคแพร่ระบาดติดต่อถึงสุกรของเกษตรกรได้ ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานโครงการฯ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินงาน จำนวน 10 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงหมูครบวงจร ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ดังนี้ 1) เก็บข้อมูลรายฟาร์มเชิงลึก (Farm File) เกี่ยวกับปริมาณการผลิตสุกร การจัดการโรงเรือน การตรวจสัดและผสม การคัดเลือกพันธุ์สุกรและแผนการผลิตสุกร การให้อาหาร การเลี้ยงดูสุกรแม่พันธุ์และการจัดการตามแต่ระยะ เป็นต้น 2) ประเมินมาตรฐานระบบความปลอดภัยเกษตรกรฟาร์มสุกร (Farm biosecurity)  เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับคน สัตว์ สิ่งของ เชื้อสามารถติดมากับเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องมือเครื่องใช้ และยานพาหนะ ด้วยการประเมินประเด็นสำคัญ อาทิ การแบ่งแยกรั้ว/เขต ฟาร์ม อ่างจุ่มเท้าฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม รองเท้าบูทใช้เฉพาะพื้นที่ฟาร์ม สต็อกน้ำยาฆ่าเชื้อไว้เตรียมพร้อม และการป้องกันสัตว์ชนิดอื่นเข้า-ออก ภายในฟาร์ม เป็นต้น 3) บริการวิชาการประชาสัมพันธ์และให้คำปรึกษาเรื่อง “แนวทางป้องกันและรับมือโรคแพร่ระบาดติดต่อถึงสุกร” ด้วยสื่อโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์
          ดังนั้น คณะทำงานโครงการฯ จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเพื่อสรุปปัญหาและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาจากการลงพื้นที่ประเมินระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์ม (Farm biosecurity)  โดยจะนำข้อมูลดังกล่าว เพื่อออกแบบระบบความปลอดภัยทางชีวภาพตามบริบทของแต่ละฟาร์มในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป
แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์โรคอหิวาต์สุกร
แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์โรคเพิร์ส
ลงพื้นที่เก็บข้อมูลโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล
ลงพื้นที่เก็บข้อมูลโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล
ลงพื้นที่โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล
ลงพื้นที่โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล
นำเสนอโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล
นำเสนอโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล
จำนวนคนดู: 281