ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผลงานวิจัยม.วลัยลักษณ์ ศูนย์AIC นครศรีธรรมราช คว้า 2 รางวัลชนะเลิศ AIC Award 2022
ผลงานวิจัยม.วลัยลักษณ์ ศูนย์AIC นครศรีธรรมราช คว้า 2 รางวัลชนะเลิศ AIC Award 2022
ผลงานวิจัยม.วลัยลักษณ์ ศูนย์AIC นครศรีธรรมราช คว้า 2 รางวัลชนะเลิศ AIC Award 2022

          ผลงานวิจัยฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และไตรโคเดอร์มา5+ ของนักวิจัยม.วลัยลักษณ์ สังกัดศูนย์ AIC จ.นครศรีธรรมราช คว้า 2 รางวัลชนะเลิศ การประกวด AIC Award 2022 ประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา ผู้อำนวยการศูนย์ AIC จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดโครงการประกวด AIC Award 2022 Agritech and Innovation Center เพื่อค้นหาโครงการหรือผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคัดเลือกจากทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่ง ม.วลัยลักษณ์ภายใต้ศูนย์ AIC จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดดังกล่าวด้วย
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯได้พิจารณาตัดสินการประกวด AIC Award 2022 แล้ว ผลปรากฏว่า ผลงานวิจัยของนักวิจัยม.วลัยลักษณ์ ภายใต้ศูนย์ AIC จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม สาขานวัตกรรมเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ ได้แก่ งานวิจัยและบริการวิชาการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนประมงชายฝั่ง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี และคณะ
          และรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม สาขานวัตกรรมเพื่อสังคมการเกษตร ได้แก่ผลงานวิจัยนวัตกรรมไตรโคเดอร์มา5+ ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชมาตรฐานสากล โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา และคณะ
          สำหรับงานวิจัยและบริการวิชาการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ม.วลัยลักษณ์ ดำเนินการในพื้นที่ประมงชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ปัจจุบันได้สร้างศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าไปแล้ว จำนวน 87 แห่ง โดยโครงการดังกล่าวทำให้จำนวนปูม้าในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถเพิ่มรายได้ให้ชุมชนจากการประมงจับปูม้ากว่าเท่าตัว ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความยั่งยืน สร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน อีกทั้งยังสามารถสร้างกิจกรรมเพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวอีกด้วย   
          ส่วนผลงานวิจัยไตรโคเดอร์มา5+ เป็นนวัตกรรมงานวิจัยที่รวมองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย เชื้อราไตรโคเดอร์มา NST-009 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมโรคพืช เชื้อราเมธาไรเซียม WU-003 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมหนอนและด้วงศัตรูพืช เชื้อราบิวเวอร์เรีย WU-002 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมเพลี้ยและหนอนศัตรูพืช ธาตุอาหารแคลเซียมที่เพิ่มความแข็งแรงและระบบการป้องกันตนเองของเซลล์พืช ธาตุอาหารแมกนีเซียมที่เพิ่มการเจริญเติบโตและองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ และสารเสริมความแข็งแรงและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์พืช ทำให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานเพราะออกฤทธิ์ครอบคลุมได้หลายด้าน
         ทั้งนี้ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC) จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของจังหวัดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุน และส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์และพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร เป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร และสนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในจังหวัด ตลอดจนผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ภายใต้วิสัยทัศน์ “แหล่งอาหารมาตรฐานปลอดภัยก้าวไกลคุณภาพชีวิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเกษตรนวัตกรรมสู่ผู้นำครัวโลก”

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร  เว็บไซต์ https://www.wu.ac.th/th/news/21381

จำนวนคนดู: 27