ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เปิดอบรมอย่างเป็นทางการ “โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 29 รูปแบบออนไลน์” The 29th Marine Ecology Online Course

          เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือ จัดกิจกรรมพิธีเปิดโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 29 รูปแบบออนไลน์ “The 29th Marine Ecology Online Course” อย่างเป็นทางการ ณ ห้องบันทึกรายการโทรทัศน์ ศูนย์บริการวิชาการ อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting
          ภายในกิจกรรมพิธีเปิด ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจากคุณวราริน วงษ์พานิช ผู้แทนสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวต้อนรับน้องๆ ผู้เข้าอบรมในนามเจ้าภาพร่วมดำเนินงาน โดยมีคุณพรสุรีย์  กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  ได้ให้โอวาทในนามของผู้สนับสนุนโครงการในครั้งนี้
          ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวรายงานถึงเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดรายละเอียดของกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ

 

  1. การบรรยาย อบรม ในส่วนของเนื้อหา มีผู้บรรยายจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เชี่ยวชาจากทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 14 ครั้ง ตลอดจนกิจกรรมการบรรยายพิเศษ ในช่วง Special Talk โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ ภายใต้หัวข้อที่ได้รับความสนใจจำนวน 5 ครั้ง
  2. ภาคปฏิบัติ: การเก็บตัวอย่าง และการจัดการตัวอย่างสัตว์ทะเล, เทคนิคการปรับแต่งและประยุกต์ภาพถ่ายในงานทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการออกแบบการทดลองทางนิเวศวิทยาทางทะเลและการเขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมภาคปฏิบัติเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนไม่เบื่อ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม และแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น
  3. กิจกรรมหัวข้อสัมมนา ผู้เข้าอบรมแบ่งกลุ่มเพื่อเลือกหัวข้อสัมมนา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม จำนวน 10 กลุ่ม เป็นพี่เลี้ยงและให้การปรึกษาแนะนำ โดยฝึกให้คิดการตั้งโจทย์ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูล และมีการนำเสนอตามหัวข้อสัมมนา

          ทั้งนี้ โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 29 รูปแบบออนไลน์ จัดขึ้นโดยความร่วมร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกและกระบวนการที่สำคัญ ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และการอนุรักษ์การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและอย่างยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล โดยกิจกรรมกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2565 รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นนักศึกษา จำนวน 56 คน จาก 16 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และต่างประเทศ

 

          ทั้งนี้ กิจกรรมพิธีเปิดในวันนี้ โครงการจัดให้มีกิจกรรมบรรยายพิเศษ ในช่วง Special Talk: หัวข้อ ทิศทางการวิจัย เพื่อยกระดับการจัดการทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย โดย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ผู้ขับเคลื่อนวงการงานวิจัยทางทะเลกว่า 30 ปี และผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักอนุรักษ์ นักสื่อสาร เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่สนใจเรื่องทะเล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินรยการโดบ ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และหลังจากกิจกรรมการบรรยายพิเศษ จะเป็นช่วงสำคัญของผู้เข้าอบรมที่จะได้รับฟังการชี้แจงกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ ตลอดจนการเจอกับที่ปรึกษากิจกรรมสัมมนาประจำกลุ่มครั้งแรก

จำนวนคนดู: 40