ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมการประชุมชี้แจงผลการประเมินความก้าวหน้ารายกิจกรรมภายใต้โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน จาก MRAG

          เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะนักวิจัยภายใต้โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน เข้าร่วมการประชุมชี้แจงผลการประเมินความก้าวหน้ารายกิจกรรมภายใต้โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน กับ MRAG ร่วมกับคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณี โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุม

          จากการประชุมผลการประเมินจากเวปไซต์ Fisheryprogress.org : เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ทางเวปไซต์ได้อัพเดทสถานะของโครงการฯ โดยปรับระดับจาก Rating C (Some Recent Progress) เป็น Rating A (Advanced Progress) และมีงานที่ทำเสร็จสมบูรณ์แล้วเพิ่มขึ้นจาก 45% เป็น 65% นอกจากนี้ พบว่า มี Indicator สีเขียว เพิ่มขึ้นจาก 29% เป็น 32% โดยมีหน่วยงานประเมินภายนอก จาก Marine Resources Assessor Group (MRAG) เป็นผู้ประเมินความก้าวหน้าโครงการฯ

โดยมีประเด็นการชี้แจงผลการประเมินรายกิจกรรมร่วมกับหน่วยงาน MRAG ดังนี้
          1. ประเทศไทยต้องมีการยืนยันแนวทางการรายงาน Stock Status ของปูม้า โดยขอให้มีการรายงานทั้งในอ่าวไทยและในสุราษฎร์ธานี (พื้นที่นำร่อง) ซึ่งกรมประมงขอใช้ค่า Maximum Sustainable Yield (MSY) เป็นวิธีการหลักในอนาคต เนื่องจากจะสะดวกต่อการกำหนด Harvest Control Rules (HCRs) ของการประมงปูม้าในอนาคตด้วย โดยในประเด็น HCRs จะมีการหารือเป็นการภายในก่อน และจะระบุมาตรการ HCRs ลงใน แผนบริหารจัดการประมงปูม้า (Blue Swimming Crab Fishery Management Plan : BSC FMP) ต่อไป
          2. การประเมินประสิทธิภาพธนาคารปูม้า การปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า เสนอให้มีมาตรการบริหารจัดการในอนาคต รวมถึงแนวทางที่จะลดการพึ่งพาธนาคารปูม้าเพียงอย่างเดียวในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าในอนาคต อาทิ การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ การกำหนดขนาดตาอวน การกำหนดขนาดปูม้าเล็กสุดในการจับ เป็นต้น
          3. การศึกษาผลกระทบของคอกหอยต่อทรัพยากรปูม้า ซึ่งทางทีมวิจัยจะจัดทำแผนที่แสดงคอกหอยและการกระจายตัวของปูม้าในอ่าวบ้านดอนให้ใหม่ รวมถึงอธิบายปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ อุณหภูมิน้ำ และค่าความเค็ม บริเวณคอกหอยที่ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปูม้า
          4. นำผลสัมฤทธิ์ของการทำ Fishery Refugia ในสุราษฎร์ธานี มาจัดทำ Management Strategy
          5. นำผลการวิจัยเรื่อง Ghost Gear และ Ecosystem มาจัดทำเป็น Recommendations และระบุใน HCRs เพิ่มเติมใน BSC FMP
          6. ขอให้เพิ่มเติมข้อมูลผลสำเร็จของโครงการฟื้นฟู Habitat (ป่าชายเลน ปะการัง และหญ้าทะเล) ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
          7. ขอให้กรมประมงอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของการติดตามการทำประมงผิดกฏหมายของเรือประมงพื้นบ้าน
          8. เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการซื้อคืนเรือประมง จากกรมประมง
          9. ข้อมูลผลการจับจากเรือประมงปูม้า (ลอบปูและอวนจมปู) แบ่งตามขนาดเรือ (ต่ำกว่า 10 ตันกรอส, 10-29 ตันกรอส และ มากกว่า 30 ตันกรอส)
          10. ขอให้ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาด้านการประมงที่มีการเสนอจากชาวประมง 1 เรื่อง ที่นำไปสู่การออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมรายงานการประชุม และช่องทางการเผยแพร่ผลการแก้ไขปัญหาและประกาศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมประมงจะจัดทำตัวอย่างการเสนอเขตทำการประมงร่วมกับชาวประมง จนออกเป็นประกาศเขตทำการประมงพาณิชย์และพื้นบ้านที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          ทั้งนี้ได้รับการแจ้งจากผู้ประเมินว่า มาตรฐาน MSC จะมีการปรับปรุงมาตรฐาน จากเดิม version 2.1 เป็น Version 3.0 โดยจะมีการปรับเพิ่มเติมในหลักการที่ 2 ในประเด็น In-scope Species และ Out-of-scope Species รวมถึงการบริหารจัดการ Ghost Gear เพื่อลดผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย (Habitat)

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย  

จำนวนคนดู: 25