ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงานมหกรรมสินค้า “U2T to Market มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” เพื่อส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG

          เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศูนย์บริการวิชาการการ  จัดงานมหกรรมสินค้า “U2T to Market มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ขึ้น ลาน Out door หน้าประตู Starbuck ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครศรีธรรมราช โดยจัดพิธีเปิดกิจกรรมในวันที่ 11 มีนาคม 2566 ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายไตรรัตน์  ไชยรัตน์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเปิดงาน  และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน รวมทั้งการกล่าวรายงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์  สวัสดี  ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ    และได้รับเกียรติจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ภายในจังหวัดเข้าร่วมในพิธีเปิด ร่วมชมนิทรรศการและเยี่ยมชมบูธจำหน่ายสินค้าจากโครงการ U2T for BCG ร้านค้าเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมออกร้าน รวม 30 ร้าน ซึ่งมาจากทั้ง 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
          ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมายตลอดทั้งวัน หมุนเวียนกัน ได้แก่ การแสดงจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เวทีการเสวนา “โครงการ U2T กับแนวทางยกระดับตลาดสินค้า U2T” ในมุมมองจากนักวิชาการ และ ผู้ประกอบการโครงการ U2T ดนตรีโฟล์คซอง  และการสาธิตการทำหมี่เมืองนัง รวมถึงการสาธิตการยีน้ำตาลจาก และกิจกรรมชิงโชค ไข่ปูม้าพาโชค รวมทั้งการ ออกร้านจำหน่ายสินค้าชุมชนทั้ง 30 ร้าน ในราคาถูกและจากมือผู้ผลิตโดยตรง

          งานมหกรรมสินค้า U2T to Market มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดขึ้นภายใต้โครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG โดยความร่วมมือ และสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เริ่มต้นโครงการ U2T เกิดขึ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 โดยรัฐบาลมีนโยบายและแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมุ่งเน้นการรักษาระดับการจ้างงาน และพัฒนายกระดับสินค้ารายชุมชนของผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จากการยกระดับระบบเศรษฐกิจฐานราก สู่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศไทย  ประกอบเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่เราเรียกกันคุ้นปากว่า (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) และเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG Economy ด้วยการผนึกกำลังกับหน่วยงานภายใต้ กระทรวง อว. ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนโดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการขับเคลื่อน (U2T for BCG) หรือโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมฐานรากรายตำบลหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยภาพรวมของกิจกรรมภายใต้โครงการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการ ครอบคลุม การจัดทำข้อมูล Thailand Community Big Data (TCD) การยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์รายตำบลตามความต้องการของผู้ประกอบการชุมชน การจัดประกวดผลงานตำบลเด่น U2T Hackathon การฝึกอบรมทักษะต่างๆให้กับบัณฑิตจบใหม่ภายใต้โครงการ กิจกรรมส่งเสริมความเข้าใจในโรคโควิด Covid week และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายตลอดเวลา 2 ปี ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด

          สำหรับโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ในการดูแลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยภาพรวมครอบคลุมพื้นที่ 85 ตำบล 4 จังหวัด ได้แก่กระบี่ ชุมพร  สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อบูรณาการสนับสนุนการพัฒนา ส่งเสริม ผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการด้าน BCG ของชุมชนออกสู่ตลาดจำนวนกว่า 170 ผลิตภัณฑ์/บริการ ร่วมจัดทำ วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ (Thailand Community Big Data : TCD) ในพื้นที่มากกว่า 40,000 ข้อมูล รวมถึงการสร้างภาคีเครือข่ายบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนงานวิชาการรับใช้สังคมและกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ กว่า 269 หน่วยงาน รวมทั้งการจ้างงานในพื้นที่ตำบลมากกว่า 1,400 อัตรา ทั้งที่เป็นบันฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ 85 ตำบล ตามที่กล่าวรายงานข้างต้น คิดเป็นจำนวนการจ้างงานมูลค่าประมาณ 21 ล้านบาท 

จำนวนคนดู: 49