ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

วิชาการรับใช้สังคม มวล. บูรณาการความร่วมมือกับ รพ.สต.ควนไม้บ้อง แกนนำ อสม. และผู้นำชุมชนวังอ่าง เพื่อส่งเสริมสุขภาพเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ

           เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา อาจารย์ ดร.ธนา จักษ์เมธา อาจารย์พิริยา ชนสุต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และ คณะทำงานคลินิกเทคโนโลยี ศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อจัดกิจกรรมบริการให้คำปรึกษาด้านการใช้สมุนไพรในท้องถิ่นเพื่อการส่งเสริมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแก่ผู้แทนเกษตรกรชาวสวน ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (SDG3) พร้อมร่วมประชุมวางแผนการจัดกิจกรรมการใช้สมุนไพรในชุมชนวังอ่าง และแนวทางการบูรณาการความร่วมมือกิจกรรมด้านสุขภาพร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลควนไม้บ้อง ผู้นำชุมชนวังอ่าง และแกนนำ อสม. (SDG17) โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการบริการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาเทคโนโลยีการประกอบอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
         อนึ่ง กิจกรรมดังกล่าว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมดำเนินการตามแนวทางการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ และและเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ศูนย์บริการวิชาการ ขอขอบคุณ คณาจารย์ ผู้แทนชุมชน ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ที่ร่วมดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเป็นอย่างดียิ่ง

จำนวนคนดู: 27