ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ ร่วม “อนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการจักสานสาดหน้าพ้อ” ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

          เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566  ทีมงานวิจัยโครงการกะพ้อ : การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ได้ลงพื้นที่ชุมชนหมู่ที่ 5 ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา ซึ่งในอดีตเป็นชุมชนที่เคยมีการสานสาดหน้าพ้อ (เสื่อทางกะพ้อ) และสาดคล้า กันเป็นจำนวนมากทั้งเพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่าย แต่ในปัจจุบันไม่มีการสานสาดหน้าพ้อในพื้นที่แล้วเนื่องจากไม่ได้รับความนิยมในการใช้งานเช่นในอดีต อีกทั้งวัสดุในการสานลดน้อยลงเพราะต้องใช้จำนวนมากแต่หาทางกะพ้อที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเช่นในอดีตได้ยากอีกทั้งคนที่ยังสามารถสานสาดหน้าพ้อได้นั้นคงเหลือน้อยมาก  ทีมวิจัยจึงได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและสัมภาษณ์ ครูภูมิปัญญาการสานสาดที่จะช่วยอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาสาดหน้าพ้อและสาดคล้าของชุมชนได้ต่อไป คือ นางอารีย์  ไชโย อายุ 79 ปี  ซึ่งแม้จะหยุดสานสาดหน้าพ้อไปนานแล้วแต่ก็ยังสามารถสานได้อย่างชำนาญ คล่องแคล่วและสวยงาม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการสานสาดหน้าพ้อสู่รุ่นลูกหลานและคงอยู่กับชุมชน ควบคู่กับการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ต้นกะพ้อซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่สามารถขึ้นเจริญเติบโตได้หลากหลายระบบนิเวศ และชุมชนสามารถนำมาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายอย่างยั่งยืน
          สาดหน้าพ้อ หรือ เสื่อทางกะพ้อ เป็นงานจักสานที่ต้องใช้ทางใบของต้นกะพ้อที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันแหล่งวัตถุดิบทางกะพ้อในธรรมชาติลดน้อยลงมากคงเหลือแต่แหล่งต้นกะพ้อในชุมชนตามหัวไร่ปลายนาชายสวนที่มีการยกเว้นไว้หรือปลูกเพิ่มใหม่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเอายอดไว้ทำขนมต้มใบกะพ้อในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา งานลากพระ หรือประเพณีอื่นๆ ของชุมชน  ซึ่ง “สาดหน้าพ้อ” นิยมใช้ปูนอนหรือนั่งเล่นในบ้านเรือน บนแค่ในร่ม ยิ่งใช้ไปเป็นเวลาจะขึ้นเงาและมีสีโทนขาวสวยงาม มีความเย็นสบาย    

จำนวนคนดู: 29