ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหนองหงส์ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

          เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนสัณฑ์ เทพรัตน์ รักษาการแทนผู้ช่วยคณบดี สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหนองหงส์ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อประชุมหารือการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยมีนายวิรชัช เจะเหล็ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช  ในโครงการโครงการสร้างการรับรู้วิถีชุมชนด้วยสื่อวาดภาพ  ภายใต้ชุดโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social Engagement) เพื่อเป็นสื่อสร้างการรับรู้วิถีชุมชน ด้วยภาพวาดในการทำงานอนุรักษ์ที่ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น ร่วมด้วยหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช
          ทั้งนี้ เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา (วันที่ 31 สิงหาคม 2565) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ นำทีมผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนสัณฑ์ เทพรัตน์ เเละคณะนักศึกษา จากสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ลงพื้นที่วาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง   ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหนองหงส์ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ด้วยพื้นที่ชุมชนชายฝั่งมีความชื้นของสภาพภูมิอากาศ และน้ำทะเลท่วมถึงอาคาร จึงให้พื้นผิวภาพหลุดลอกและหลุดร่อนไปตามกาลเวลา  
        ศูนย์บริการวิชาการ จึงได้จัดประชุมวางแผนการดำเนินงานโครงการวิชาการรับใช้สังคม ปีงบประมาณ 2566 (เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2566)  ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนสัณฑ์ เทพรัตน์ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ภายใต้ชื่อโครงการสร้างการรับรู้วิถีชุมชนด้วยสื่อวาดภาพ
        การลงพื้นที่ชุมชนชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งนี้ นอกจากคืนรอยยิ้ม ให้กลับชาวเลกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังมีแผนงานดำเนินการออกแบบผังโรงเรือนเพื่อเตรียมขอเครื่องหมาย อย. และ ฮาลาล กระบวนการและเอกสารในการเตรียมขอเครื่องหมายรับรอง อย. และ ฮาลาล ตลอดทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์และสื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้ชื่อแบรนด์ “รอยยิ้มชาวเล” ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะเพชร ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนชายฝั่งต้นแบบในการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการแปรรูปสินค้าในท้องถิ่นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างอาชีพ ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับชุมชนชายฝั่งได้เป็นอย่างดีต่อไป 

จำนวนคนดู: 18