ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

คณะทำงานโครงการธนาคารปูม้ามวล.วช. ขับเคลื่อนกิจกรรมธนาคารปูม้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          เมื่อวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2566 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า มวล.วช. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินกิจกรรมธนาคารปูม้าพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการการประยุกต์ใช้ธนาคารปูม้าเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งและยกระดับรายได้ให้กับชาวประมงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับงบประมาณทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
          ตลอดการดำเนินการโครงการธนาคารปูม้าอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 3 ปี สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพิ่มความตระหนักให้กับชุมชนชายฝั่งในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าและดูแลระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง จากการเก็บรวบรวมผลจับสัตว์น้ำในพื้นที่การดำเนินโครงการพบว่าจำนวนปูม้าที่จับได้จากธรรมชาติเพิ่มขึ้น และสามารถจับปูม้าได้ตลอดทั้งปี ลดระยะเวลาในการวางอวนหรือเครื่องมือประมงจากเดิมวางอวนทิ้งไว้ 2-3 วัน เหลือเพียง 1-2 วัน เท่านั้น รายได้จากการทำประมงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นถึงความเข้มแข็งของกระบวนการทำงานอนุรักษ์ของชุมชน เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และต่อยอดสร้างสัมมาชีพของชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ดำเนินโครงการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มากกว่า 84 กลุ่ม

          เป้าหมายการลงพื้นที่ในครั้งนี้ประกอบกิจกรรมสนับสนุนส่งเสริมการทำธนาคารปูม้า โดยเข้าไปดู ร่วมพูดคุย และสนับสนุนให้ธนาคารปูม้าในชุมชนสามารถดำเนินกิจกรรมได้ สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายเพื่อให้ธนาคารปูม้าของชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว นอกจากนี้คณะทำงานธนาคารปูม้า มวล.วช. เข้าเยี่ยมชมการปรับปรุงโรงเพาะฟักลูกพันธุ์ปูม้าของบริษัท   วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดรูปแบบการทำธนาคารปูม้ากับชาวประมงในพื้นที่ด้วย ในการนี้ ทางโครงการธนาคารปูม้า มวล.วช. ได้สนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างโรงเพาะฟักลูกพันธุ์ปูม้าให้กับ บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท
          นอกจากนี้ คณะทำงานธนาคารปูม้าร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชนบริเวณชายฝั่ง 500 ชุมชน โดยให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานหลักในการบรูณาการ ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันอื่น ๆ ดำเนินการจัดทำธนาคารปูม้า ภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย”

จำนวนคนดู: 23