ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ แกนนำชุมชน และ รพ.สต. บ้านทุ่งชน ร่วมยกระดับสมุนไพรหลักในสูตรตำรับ “น้ำมันนวดไพล”

          วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช อาจารย์ชนากานต์ สิทธิศักดิ์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งชน ผู้นำชุมชน และแกนนำสมาชิก อสม. บ้านทุ่งชน ดำเนินกิจกรรมการขยายพันธุ์วัตถุดิบสมุนไพร (ไพล ขมิ้นชัน ขิง ผักเสี้ยนผี และอื่นๆ) ในพื้นที่สวนสมุนไพร รพ.สต.ทุ่งชน โดยนำดินปลูกไตรโคออร์ก้าซอย ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผสมกับดินในแปลงปลูกสมุนไพรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในดิน และส่งเสริมการป้องกันโรคพืชในสมุนไพรประเภทหัวหรือเหง้าโดยชีววิธี ทั้งนี้ คณาจารย์บริการให้คำปรึกษาด้านแผนการปลูกและเก็บเกี่ยววัตถุดิบสมุนไพรแต่ละชนิด เพื่อยกระดับต้นน้ำของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ก่อนเก็บเกี่ยวสมุนไพรที่จำเป็นและครบอายุการใช้งานเป็นวัตถุดิบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ “น้ำมันนวดไพล” ในเดือนมิถุนายนต่อไป
      สำหรับ “โครงการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบครบวงจรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและสัมมาชีพชุมชน ปีที่ 4” ภายใต้ ชุดโครงการพันธกิจวิชาการรับใช้สังคมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แบบองค์รวม (WU – Social engagement) ปีงบประมาณ 2566 จะมุ่งนำองค์ความรู้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น เพื่อการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดยมุ่งเน้นชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกแหล่งวัตถุดิบสมุนไพร ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 3 “Good Health and Well-being” มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น ชุมชน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

จำนวนคนดู: 42