ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมบรรยายหัวข้อ “การจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม แนวโน้ม และโอกาส” ให้แก่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช

          เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. วาริท เจาะจิตต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และอาจารย์นิธิมา หนูหลง อาจารย์ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 4/2566 ณ อาคารมานะจิตต์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อบรรยายหัวข้อ “การจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม แนวโน้ม และโอกาส” โดยมีนายสุรินทร์ สิริชยานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในการประชุม
          ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงคิดเป็น ร้อยละ 21 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองลงมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าและความร้อน ร้อยละ 25 และภาคการเปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์ที่ดินร้อยละ 24 และภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพิจารณาตามขอบเขตของโรงงานสามารถจําแนกเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct Emission) ได้แก่ การใช้พลังงาน การเกิดปฏิกิริยาในกระบวนการผลิต การจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม และการรั่วไหล และแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Indirect Emission) ได้แก่ การนําเข้าพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากภายนอกโรงงาน ดังนั้น การจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม เป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จำนวนคนดู: 16