ม.วลัยลักษณ์ จัดกิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษานอกห้องเรียน เพื่อส่งเสริมสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนให้แก่นักเรียนโรงเรียนชุมชนใหม่

          เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยชนก คมเม่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัปสร บุญยัง และ ว่าที่ ร.ต.(หญิง) จิราพัชร น้ำแก้ว  อาจารย์สังกัดสำนักวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษาสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และสำนักวิชาครุศาสตร์และศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 และ ปีที่ 2 และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ ได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยการสอนให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายทำแซนวิชและเรียนรู้กลุ่มโภชนการในอาหาร 5 หมู่ และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ได้มีการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการกิจกรรมปลูกผัก เก็บข้อมูลและบันทึกผลการเจริญเติบโตของพืช โดยกิจกรรมดังกล่าวมีการบูรณาการการจัดการเรียนการสอน และบริการวิชาการ: ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้แบบ STEM Education โรงเรียนชุมชนใหม่ ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบริการวิชาการให้กับนักเรียนโรงเรียนชุมชนใหม่ ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช  ใช้สื่อการเรียนการสอนและนักศึกษาผู้นำรุ่นใหม่ที่ผ่านการสร้างเสริมทักษะกระบวนกร  ทำให้การทำงานของนักศึกษาเป็นไปอย่างมีระบบแบบแผน อีกทั้งมีรูปแบบกิจกรรมที่ได้ลงมือปฎิบัติ เพิ่มศักยภาพความรู้ เสริมสร้างทักษะแบบไร้ขีดจำกัด  ฝึกฝนการคิดเชิงวิเคราะห์  การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ  การออกแบบและการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ในรูปแบบของการพัฒนาทักษะให้กับผู้เรียน อันได้แก่ (1) ทักษะวิชาการ แบบบูรณาการความรู้ ร่วมกัน 4 ศาสตร์ ประกอบด้วย วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (2) ทักษะบุคคล ในการฝึกฝนการคิดเชิงวิเคราะห์, การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ, บุคลิกภาพ, การกล้าแสดงออก (3) และทักษะสังคม ทำงานร่วมกัน การอยู่กันในสังคม การช่วยเหลือ-ผู้อื่น และจิตสาธารณะ โดยกิจกรรมการสอนที่ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในปัญหาเล็ก ๆ จนถึงสามารถนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ แก้ปัญหาในชีวิตประจําวันได้อีกด้วย เน้นให้เกิดการศึกษาไปที่ทักษะและการลงมือปฏิบัติจริง นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังคุณลักษณะความเป็นครูให้กับนักศึกษาอีกด้วย โดยมีนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 15 คน
          ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 4 (Quality education) สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

จำนวนคนดู: 53