ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาการจัดการ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ให้บริการวิชาการแก่กลุ่มเกษตรกรมังคุดแปลงใหญ่ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

         เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูลีรัตน์ คงเรือง สำนักวิชาการจัดการ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มอบหมายให้ นางสาวพุทธพร ชุมแก้ว ธราพรสกุลวงศ์ ฝ่ายบริหารโครงการและกิจกรรมพิเศษ ลงพื้นที่เพื่อให้บริการวิชาการแก่กลุ่มเกษตรกรมังคุดแปลงใหญ่ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การดำเนินงานในโครงการการบริการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพในพื้นที่ชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกับจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการนำของ นายสมบัติ กลางวัง นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการ จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมคณะ และได้รับเกียรติจาก นายประทีป หนูนุ้ย เกษตรอำเภอชะอวด สำนักงานเกษตรอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช 

เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ เรื่อง การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานแปลงใหญ่มังคุด และให้บริการคำปรึกษาและข้อมูลการบริหารจัดการผลผลิต ในโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่มังคุด ปีงบประมาณ 2562 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 5 ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเกษตรกรเข้าร่วมฯ จำนวน 29 ราย 

สำหรับผลผลิตมังคุดของอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแปลงใหญ่ร่วมกันผลิต ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรมุ่งเน้นคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงต้องพยายามรักษามาตรฐานของสินค้าไว้ให้ได้ เพราะความต้องการของตลาดต่าง ๆ จะต้องเน้นในเรื่องของสินค้าเกษตรอินทรีย์ ไม่มีสารตกค้าง สินค้าเกรดเอ สินค้าเกรดพรีเมี่ยม ฉะนั้นถ้าไม่ดูแลรักษา และไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยดูแลในการผลิต ก็จะเกิดปัญหา และอุปสรรคต่างๆ จะตามมา ที่สำคัญผู้บริโภคก็มีตัวเลือกไปหาซื้อมังคุดที่อื่นได้ ปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่สรุปได้ในเวที คือ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ในพื้นที่ชะอวด ขาดแคลนแรงงาน หรือ แรงงานที่มีทักษะการเก็บเกี่ยวในระยะที่ตลาดต้องการ 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวเดินทางไปศึกษาดูงานมังคุดแปลงใหญ่ อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อศึกษาดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารจัดการ การประมูลมังคุดจากกลุ่มวิสาหกิจในจังหวัดจันทบุรี และ เรื่องการตลาดแบบยั่งยืน เพื่อผลักดันให้เกษตรกรร่วมมือกันมีการพัฒนาตนเองให้ผลิตสินค้าคุณภาพ มีความสามัคคี มีอำนาจการต่อรองกับตลาดในทุกด้าน ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันอย่างเข้มข้นระหว่างแปลงใหญ่กับ ศพก. การนำรูปแบบการประมูลเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้ชาวสวน ในกลุ่ม ตื่นตัว ในเรื่องของการคัดเกรด และใส่ใจในการปลูกมังคุดคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ปลูกมังคุดแปลงใหญ่ต้องวางแผนการจัดการปลูกอย่างเป็นระบบเพื่อลดต้นทุน การผลิตตลอดจนการได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานยกระดับด้านราคา โดยเฉพาะผลผลิตที่ส่งไปตลาดต่างประเทศ 

หรือแนวทางการขายปลีกในรูปแบบผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง ที่เน้นคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้บริโภค ผลักดันให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับยุค 4.0 สมารถเข้าถึงข้อมูลกระบวนการต้นน้ำไปยังปลายน้ำ การปลูกการดูแลรักษา การปลูก การผลิต และการแปรรูป อีกทั้งเกษตกรต้องมีการปรับตัว และปรับวิธีการการทำเกษตรกรรมแบบเดิม หันมารวมกลุ่มกัน ให้เข้มแข็งและต้องมีแกนนำ แกนหลัก เพื่อที่จะสามารถเชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐ และเอกชนให้เข้ามาช่วยสนับสนุน เน้นการผลผลิตที่มีคุณภาพ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาหนุนเสริม ตลอดทั้งการรักษาคุณภาพและมาตรฐานของมังคุดตรงตามมาตรฐานการส่งออก ให้ได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศที่เป็นคู่แข่งในอนาคตได้ 

จำนวนคนดู: 10