ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหน่วยประสานงานภูมิภาค (ภาคใต้) ร่วมแสดงความยินดีกับตัวแทนโครงการ YSC 2019 กับรางวัลชนะเลิศ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดโครงงานในเวทีระดับโลก

                  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหน่วยประสานงานส่วนภูมิภาค (ภาคใต้) ร่วมแสดงความยินดีกับเยาวชนคนเก่งตัวแทนภาคใต้จากกิจกรรมโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 21 (YSC 2019) เข้าร่วมการประกวดในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 13 – 15 มีนาคม 2562 ณ ห้องแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพมหานคร สำหรับการจัดงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ภายในงานประกอบด้วยการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest: NSC), การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC), การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (Young’s Electronics Circuit Contest: YECC), โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ซึ่งการจัดงานมหกรรมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนครู อาจารย์ได้แสดงทักษะ ความรู้ ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ในการสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การใช้งานจริง หรือการเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีสายพันธุ์ใหม่ อันจะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
                  ในปีนี้ การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ได้เปิดกว้างรองรับสาขาต่างๆ ถึง 8 สาขา คือ
         1. สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science)
         2. สาขาคณิตศาสตร์ (Mathematical Sciences)
         3. สาขาเคมี (Chemistry)
         4. สาขาชีววิทยา (Biology)
         5. สาขาฟิสิกส์ พลังงาน และดาราศาสตร์ (Physics, Energy and Astronomy)
         6. สาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science)
         7. สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental Science)
         8. สาขาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering)

                   มีโครงงานที่ผ่านสู่รอบชิงชนะเลิศ 56 โครงงานจากทั่วประเทศ ซึ่งมีโครงงานตัวแทนภาคใต้ที่เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 8 โครงงาน จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จ.ภูเก็ต จำนวน 1 โครงงาน, โรงเรียนสตรีระนอง จ.ระนอง จำนวน 2 โครงงาน, โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 1 โครงงาน, โรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม (โครงการ วมว.-ม.ทักษิณ) จ.พัทลุง จำนวน 1 โครงงาน, โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา จำนวน 1 โครงงาน, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 1 โครงงาน, โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ปัตตานี จำนวน 1 โครงงาน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับเกียรติในฐานะตัวแทนหน่วยประสานงานภาคใต้ ส่งตัวแทนคณาจารย์ คือ ผศ.ดร.พจมาลย์ สุรนิลพงศ์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และผศ.ดร.ชุติมา จันทรัตน์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และอาจารย์ ดร.รุ่งเรือง จันทา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินโครงงานร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในวันที่ 15 มีนาคม 2562 รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ให้เกียรติเป็นประธาน และมอบรางวัลแก่เยาวชนคนเก่งในครั้งนี้ โดยผลการประกวดตัวแทนภาคใต้ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ โครงงานวัสดุดูดซับน้ำมันจากยางธรรมชาติ ผู้พัฒนาโครงงาน นางสาวอภิสรา ไชยสวัสดิ์ หัวหน้าทีม นายพันภูมิ สุขจันทรา และอาจารย์ที่ปรึกษา นายนาบิล หะยีมะแซ 

รางวัลชนะเลิศที่ผู้พัฒนาโครงงานได้รับ
           – ได้รับเป็นทุนการศึกษา 60,000 บาท
           – เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดในงาน Intel ISEF 2019 ระหว่างวันที่ 12 – 17พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
                   มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหน่วยประสานงานส่วนภูมิภาค (ภาคใต้) จึงขอแสดงความยินดีกับผู้พัฒนาโครงงาน และอาจารย์ที่ปรึกษาจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศดังกล่าว และร่วมเป็นกำลังใจในการเข้าร่วมการประกวดโครงงานในเวทีระดับโลกต่อไป

จำนวนคนดู: 70