ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะศูนย์ประสานงานโครงการ KidBright ภาคใต้ ร่วมส่งกำลังใจให้น้องๆ ตัวแทนประเทศไทยจากโรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา จ.นครศรีธรรมราช เข้าร่วมประกวดในเวที HKSSPC 2018 ณ ประเทศฮ่องกง

          ม.วลัยลักษณ์ โดยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ จัดสัมมนาวิชาการ “การบริหารจัดการการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจในการใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกกัญชาตามมาตรฐาน GACP แก่ผู้สนใจ เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2562 ณ ห้อง 3301 อาคารเรียนรวม 3 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาและบอกเล่าพัฒนาการด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวเปิดงาน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจมาลย์ สุรนิลพงศ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวรายงาน โดยมีผู้สนใจจากพื้นที่ภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ เข้าร่วมกว่า 300 คน

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ม.วลัยลักษณ์ มีนโยบายจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศกัญชาไทย” อย่างเป็นทางการ เพื่อรองรับการค้นคว้าวิจัยและพัฒนากัญชาไทยอย่างเป็นรูปธรรมอ้างอิงได้ ด้วยศักยภาพและความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ ขณะนี้มีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรที่สามารถดูแลเรื่องการผลิต การปลูก และการคัดเลือกสายพันธ์ที่บริสุทธิ์ของกัญชาไทย โดยคณาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญระดับปริญญา 100% และดำรงตำแหน่งทางวิชาการกว่า 90% สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ โดยคณาจารย์และทีมนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก สามารถทำการสกัดสารสำคัญต่างๆที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์ของกัญชาได้ หรือสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ที่สามารถนำสารสกัดเหล่านั้นมาผลิตยาเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ในการนำยาไปทดลองใช้ ทั้งหมดนี้คือความพร้อมของกระบวนการค้นคว้าวิจัยไปจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต

          อีกทั้งด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ ทำให้มีความพร้อมด้านพื้นที่ทดลองปลูก เพื่อศึกษาลักษณะสายพันธ์ุและการเจริญเติบโตที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อีกด้วย ซึ่งการจัดตั้งศูนย์วิจัยความเป็นเลิศกัญชาไทย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขอเน้นย้ำว่า จะดำเนินการเพื่อการค้นคว้าวิจัย มิใช่เพื่อการค้า โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ ม.วลัยลักษณ์มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านวิจัยที่หลากหลายและเตรียมจัดตั้งสำนักงานศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ เพื่อให้มั่นใจว่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยจะมีอุปกรณ์เครื่องมือในการศึกษาวิจัยที่ไม่ด้อยไปกว่าสถาบันวิจัยใดในโลก สุดท้ายนี้ขอเรียนทุกท่านว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีบุคลากรที่มีความรู้ พร้อมที่จะขับเคลื่อนเรื่องการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์และทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลจากการวิจัยที่ได้จากสถาบันแห่งนี้จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในอนาคต

          การสัมมนาวิชาการ “การบริหารจัดการการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกกัญชาตามมาตรฐาน GACP มีระบบการปลูกและการดูแลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้การผลิตสารสำคัญทางการแพทย์ไม่มีการตกค้างในการนำไปใช้เป็นยา ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากกัญชาเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อสะสมองค์ความรู้อีกหลายด้าน เช่น เรื่องสายพันธ์กับการรักษาโรค สารสำคัญทางการแพทย์ที่มีอยู่ในสายพันธุ์ของกัญชาไทย เป็นต้น โดยได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรผู้บุกเบิกการใช้กัญชาทางการแพทย์ของไทย อาทิ นพ.สมนึก ศิริพานทอง บรรยายในหัวข้อ “กัญชารักษาโรค” พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล บรรยายในหัวข้อ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชา” พท.ภ.บัญชา สุวรรณธาดา บรรยายในหัวข้อ “การใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์” นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ บรรยายในหัวข้อ “ความสำคัญของการวิจัยเรื่องต้นกัญชา” นายกิตติพงศ์ ปุณณ์ปิยวัฒน์ บรรยายในหัวข้อ “โรงเรือนปลูกกัญชา”และนายศักดิ์ชัย อิ่มทวีกุล บรรยายในหัวข้อ “การปลูกกัญชากับมาตรฐาน GACP”

จำนวนคนดู: 21