ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ จัดโครงการ Elephant Medicine and Surgery : Best practice Brain storming

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท Elephant Hills จำกัด ร่วมจัดโครงการ Elephant Medicine and Surgery : Best practice Brain storming สำหรับนายสัตวแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานรักษา พยาบาลช้าง ได้แก่ นายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง นายสัตวแพทย์ประจำปางช้าง นายสัตวแพทย์โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า นายสัตวแพทย์สวนสัตว์ อาจารย์ประจำวิชาอายุรศาสตร์สัตว์ป่า โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 มิถุนายน 2562 ณ Elephant Hills : Elephant Park Thailand จ.สุราษฎร์ธานี มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 24 คน จากทั่วประเทศ 

          เนื่องจากช้างเลี้ยงในประเทศไทย มีประชากรประมาณ 3,000 เชือก มีสัตวแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาช้างเต็มเวลาและไม่เต็มเวลาประมาณ 60 – 80 คน มีกิจกรรมดำเนินการรักษาช้างป่วย หรือกิจกรรมดูแลสุขภาพช้างนับว่าจำนวนมากและบ่อยครั้งที่สุดในโลก มีองค์ความรู้จากการทำงาน ประสบการณ์ของสัตวแพทย์เหล่านี้ครบถ้วนและมีรายละเอียดมาก หากมีการรวบรวมจัดทำเป็นตัวเล่มเอกสารได้ จะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ในด้านอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ช้างครั้งแรก และครั้งใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งหลักสูตรการอบรมประกอบด้วยการบรรยาย และกิจกรรม Workshop แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและประการณ์จากสัตวแพทย์ผู้ปฏิบัติงานรักษา พยาบาลช้างจากทั่วประเทศ โดยโครงการได้รับเกียรติจาก อาจารย์ น.สพ.รัฐพันธ์ พัฒนรังสรรค์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการ ดังนี้ 

         1.เพื่อรวบรวมแลกเปลี่ยน ปรับปรุง ข้อมูลความรู้เชิงปฏิบัติในการักษาช้าง ให้ทันสมัย และพร้อมต่อการนำไปใช้ให้มากที่สุด

         2.เพื่อเป็นการแสวงหาความร่วมมือระหว่างสัตวแพทย์ผู้ประกอบการรักษาโรคช้าง สนับสนุนให้เกิด เครือข่าย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับปฏิบัติงานรักษาช้าง ให้ทันสมัยและต่อเนื่อง

         3.เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ปฏิบัติได้จริง ที่ใหม่ และทันสมัยมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การจัดทำคู่มือการสอนหรือตำราอายุรศาสตร์ และศัลยศาสตร์ช้างต่อไป

          หลักสูตรการอบรมดังกล่าว จะนำไปสู่การตั้งกลุ่มเครือข่ายสัตวแพทย์รักษาช้างทางอายุรกรรม ศัลยกรรม รวมทั้งได้ข้อมูลที่ปฏิบัติได้จริง ที่ใหม่ และทันสมัยมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การจัดทำคู่มือการสอนหรือตำราอายุรศาสตร์ และศัลยศาสตร์ช้างต่อไป 

จำนวนคนดู: 20