เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยคณาจารย์จากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ สำนักวิชาศึกษาศาสตร์ และสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ร่วมกับคณะทำงานจากศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่หารือกับองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมขับเคลื่อน “ชุดโครงการบูรณาการสหสาขาเพื่อการศึกษาสู่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” และ “ชุดโครงการวลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย” มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มเด็กปฐมวัยและประชาชนในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย
คณาจารย์ผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการ ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.พงศ์พันธุ์ คำพรรณ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพรรณ ธีรพงศ์ จากสำนักวิชาศึกษาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรัตน์ หวานจิตต์ จากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณิศา คุ้มบ้าน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรพัฒน์ นาวารัตน์ จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ โดยมีการประชุมร่วมกับนางสาวสุวิชานันท์ สุขสบาย ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี รวมถึงคณะครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคมในมิติด้านการศึกษาและสุขภาพในกลุ่มเด็กปฐมวัย ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี
สาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การวางแผนประเมินทักษะสมองเพื่อชีวิต (Executive Function – EF) ก่อนและหลังการดำเนินโครงการ การปรับรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กเล็ก การจัดทำสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษ เช่น หนังสือและเกม ตลอดจนการพัฒนาเนื้อหาและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในมิติดังกล่าว
ชุดโครงการบูรณาการสหสาขาเพื่อการศึกษาสู่ชุมชน และชุดโครงการวลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล มุ่งเน้นการเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย โดยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปอย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ กิจกรรมต่าง ๆ อยู่ภายใต้การบูรณาการกับภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ควบคู่กับการดูแลสุขภาวะของกลุ่ม เด็กปฐมวัย และแรงงานข้ามชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างต้นแบบของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ชุดโครงการดังกล่าวไม่เพียงตอบสนองต่อความต้องการด้านการศึกษาและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังสะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนสังคมผ่านการบูรณาการองค์ความรู้สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 “การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม” เป้าหมายที่ 3 “สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” และเป้าหมายที่ 17 “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” รวมถึงสอดรับกับแนวทาง “WU HAPPY TREE” ด้านการศึกษา และสุขภาพ ร่วมถึงเกณฑ์ UI GreenMetric World University Rankings (ED5) อีกด้วย