มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมติดตั้งและการบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีการจัดการมูลสุกรโดยการผลิตพลังงานชีวภาพ (Biogas) และทดลองใช้งานระบบจริง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนในภาคปศุสัตว์ สู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงหมูครบวงจรและผู้สนใจในพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา รวมทั้งนักศึกษา กศน. จากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบลหัวตะพาน และนักศึกษาวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 9 และ 12 มิถุนายน 2568 ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนฯ ซอย 1 ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา
ในกิจกรรมถ่ายทอดนวัตกรรมดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก ได้ให้คำปรึกษาในการเตรียมพื้นที่และติดตั้งระบบ Biogas ต้นแบบ ที่ฟาร์มสุกรของคุณสนอง ทองยอด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงหมูครบวงจร เพื่อร่วมกันพัฒนาเป็น “แหล่งเรียนรู้ต้นแบบ” แก่เกษตรกรและผู้สนใจ รวมทั้งเชื่อมโยงการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรมวิชาการรับใช้สังคมนี้ ดำเนินงานภายใต้ชุดโครงการส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ ซึ่งมีคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ.รัชฎาพร บริพันธุ์ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ ขับเคลื่อนและสนับสนุนวิชาการในการจัดการฟาร์มสุกรครบวงจร ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาและผู้สนใจ รวมทั้งเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง