การดำเนินโครงการเกษตรปลอดภัยโดยชีววิธี ได้รับความร่วมมือกับสำนักงานเกษตรอำเภอพรหมคีรี โดยการนำของนายพิเชษฐ เชาว์ช่างเหล็ก เกษตรอำเภอพรหมคีรี ช และคณะ ร่วมกับนางพรศรี โชติพันธ์ ประธานชมรมชาวสวนไม้ผลจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกำหนดเป้าหมายที่สำคัญเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ซึ่ง ศพก. จะเป็นสถานที่เรียนรู้ นำไปสู่การผลิตร่วมกันแบบแปลงใหญ่ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้ค้นพบเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ใหม่ (NST-009) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคพืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนและส้ม โรคแอนแทรคโนสพริก โรคราแป้งเงาะ โรครากขาวยางพารา โรครากเน่าโคนเน่าปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตและสร้างสปอร์ได้เร็วกว่าสายพันธุ์การค้า สามารถเจริญเติบโตบนใบและรากพืชได้ดีกว่า สามารถปรับตัวและเพิ่มปริมาณในดินที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีได้ดีพร้อมผ่านการทดสอบและยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืชที่ปลูกและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ยังมีเชื้อราบิวเวอร์เรียและเชื้อราเมธาไรเซียม ที่สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยแป้ง ไรแดง ไรขาว หนอนเจาะผลและลำต้นพืช หนอนกระทู้ผัก หนอนผีเสื้อ แมลงวันผลไม้ แมลงวันหนอนชอนใบ แมลงดำหนามมะพร้าว ด้วงแรด ด้วงหมัดผัก ด้วงเต่าแตง เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจขอรับบริการวิชาการ ได้ที่ ศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร อาคารวิชาการ 4มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โทรศัพท์ 092-3293569 หรือ Line ID : tcruwu
ภารกิจด้านวิชาการรับใช้สังคมในวันนี้ ตัวแทนเกษตรกรแต่ละตำบลในพื้นที่อำเภอพรหมคีรี ได้เข้ามาเรียนรู้การผลิตมังคุดคุณภาพ การสำรวจความต้องการพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัยในด้านการแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ แก่เกษตรกร ตลอดทั้งการเตือนการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ได้ให้เกษตรกรที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนำดินที่ผ่านการใช้สารชีวภัณฑ์ดังกล่าวมาค่าวิเคราะห์จุลินทรีย์ในดิน ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันเอง ด้วย