ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร ลงพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เพื่อจัดทำแผนดำเนินงานโครงการพันธกิจชุมชนสัมพันธ์ (Social engagement) ปีงบประมาณ 2563

          เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2562 ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร โดยมีนายสุรเชษฐ์ แก้วคำแสน ผู้จัดการแผนกอาวุโสกิจกรรมเพื่อสังคม ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบูรณาการทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกัน ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลและความต้องการของชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เพื่อประกอบการวางแผนดำเนินงาน “โครงการพันธกิจชุมชนสัมพันธ์ (Social engagement)” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีแนวคิดในการดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม  ได้แก่ มิติ   5 ยกระดับอาชีพ การศึกษา สุขภาพ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรม ภายใต้แบบจำลองชื่อว่า ต้นไม้แห่งความสุข  (Happy tree model)

          จากการดำเนินโครงการพันธกิจชุมชนสัมพันธ์ (Social engagement) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาที่ผ่านมา มีการดำเนินการโครงการ ฯ ครอบคลุม 5 มิติหลัก เช่น การยกระดับอาชีพครอบครัวต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียน การดูแลสุขภาวะโภชนาการของนักเรียน ตลอดจนการสำรวจข้อมูลพื้นฐานภาพรวม ด้านสังคม เศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น ซึ่งนอกจากผลการดำเนินงานที่สามารถพัฒนาชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถทำให้เข้าใจปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริงและได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การวางแผนดำเนินโครงการพันธกิจชุมชนสัมพันธ์ (Social engagement) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีความต่อเนื่องและทบทวน ปรับปรุง โจทย์ความต้องการของชุมชนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย จึงได้กำหนดการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลและความต้องการของชุมชน ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth interview) กับกลุ่มเป้าหมายหลัก 2 กลุ่ม คือ

          1) กลุ่มเป้าหมายที่สามารถพัฒนายกระดับเป็นต้นแบบในมิติต่าง ๆ ของชุมชนได้ ได้แก่ ครัวเรือนเกษตรกรต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดิน (จำนวน 9 ราย) ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจกิจพอเพียงฯ โรงเรียนชุมชนใหม่

          2) กลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ได้แก่ ครัวเรือนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ภาวะติดเตียง (จำนวน 5 ราย) ครอบครัวผู้พิการ (จำนวน 2 ราย) และกลุ่มครอบครัวเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ (จำนวน 5 ราย)

          อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถเข้าถึงและคัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง และวางแผนการช่วยเหลือร่วมกันอย่างบูรณาการ จึงได้ประสานร่วมลงพื้นที่และระดมความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ อาทิเช่น ผู้อำนวยการและครูโรงเรียนชุมชนใหม่ ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และแกนนำชุมชน จากการลงพื้นที่ดังกล่าว ได้ข้อมูลพื้นฐานสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน การใช้ประโยชน์พื้นที่ดินที่ได้รับการจัดสรรรายครัวเรือน ความต้องการของชุมชนที่แท้จริงในการยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน อาชีพ สุขภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สังคม

          ทั้งนี้ ทางศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะนำข้อมูลดังกล่าวจากการลงพื้นที่และข้อมูลจากงานวิจัยสำรวจ ไปร่วมหารือกับสำนักวิชาต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาในพื้นที่ตามลำดับความต้องการของชุมชน ผ่านการดำเนินงานภายใต้โครงการพันธกิจชุมชนสัมพันธ์วิชาการรับใช้สังคม (Social Engagement) โดยการนำวิชาการ วิจัย และแนวคิดการพัฒนาที่มีระบบเพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ทำให้โครงการส่งผลกระทบ ต่อชุมชนอย่างแท้จริง

จำนวนคนดู: 53