จากโครงการวิจัยดังกล่าว มีการดำเนินการจัดทำธนาคารปูม้าในพื้นที่ซึ่งชุมชนมีความต้องการและมีความเหมาะสมเชิงพื้นที่ รวมทั้งสร้างศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะต่างๆ ในการทำธนาคารปูม้าให้กับชุมชนใกล้เคียงรายรอบ และสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับปูม้า ชีววิทยาและแนวทางฟื้นฟู ที่ควรรู้ในการทำธนาคารปูม้า ให้กับชาวประมงผู้สนใจและ จัดฝึกอบรมการเพาะฝักลูกปูม้าในระยะ Zoea และระยะ Young crab ให้แก่ชุมชน รวมทั้งจัดกิจกรรมปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเล โครงการได้จัดสร้างธนาคารปูม้าจำนวน 57 ธนาคาร และศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าจำนวน 3 แห่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผลจากการจัดทำโครงการ สามารถสร้างประโยชน์ต่อทรัพยากรทางทะเล เพิ่มปริมาณจำนวนปูม้า ซึ่งลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการนี้ส่งประโชน์ต่อชาวประมงและชุมชน เพราะสามารถสร้างอาชีพประมงปูม้าอย่างยั่งยืน ลดปัญหาการว่างงาน หรือการย้ายถิ่นฐาน เกิดการเพิ่มรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความเข้มแข็งของชุมชน สร้างความตระหนักของชุมชนในการ อนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังส่งผลต่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศน์อีกด้วย