ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และบริการให้คำปรึกษา ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในบ่อกุ้งร้าง บ้านบางพระ ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

          เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายธีรพงศ์ ไกรนรา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนางสาวพุทธพร ชุมแก้ว ธราพรสกุลวงศ์ จากฝ่ายบริหารโครงการและกิจกรรมพิเศษ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์และบริการให้คำปรึกษา กิจกรรมที่ 4 ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในบ่อกุ้งร้าง บ้านบางพระ ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายไมตรี สกุณา ประธานผู้เลี้ยงปลานิลฯ ให้การต้อนรับ

          จากในอดีตพื้นที่บ้านบางพระ หมู่ที่ 3 ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง เป็นพื้นที่นาข้าวทั้งหมด เมื่อกระแสการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ที่สามารถสร้างรายได้ดี เกษตรกรเริ่มเปลี่ยนสภาพพื้นที่ปรับที่นาเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ทำอยู่ได้ไม่นานต้องประสบปัญหาราคากุ้งที่ตกต่ำ ปัญหาโรคระบาด อีกทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไม่เอื้อต่อการเลี้ยงกุ้ง ส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรหลายรายขาดทุน บางรายแทบขาดทุนหมดตัวต้องหยุดเลี้ยง และบางรายต้องประกาศขายบ่อเลี้ยง เหลือเป็นพื้นที่บ่อกุ้งร้างเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรวมตัวกันใหม่เพื่อหาแนวทางในการใช้พื้นที่บ่อกุ้งร้างให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้คนในชุมชนไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ จึงได้จัดตั้ง “กลุ่มเลี้ยงปลานิลในบ่อกุ้งร้าง” ขึ้น โดยเลี้ยงปลานิลจิตรลดา มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 บ่อกุ้งร้างนับร้อยบ่อถูกกลับนำมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ในทุกๆเดือน มีการประชุมเพื่อรับฟังปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์เลี้ยง และได้รับความรู้ใหม่ๆ จากการประกอบอาชีพ นอกจากเลี้ยงปลาแล้ว สมาชิกในกลุ่มยังปลูกผักสวนครัว ชนิดต่างๆ บริเวณบนคันนากุ้งร้าง อาทิเช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ฟักทอง ฟักเขียว พริก ส่วนพื้นที่ว่างอยู่ก็สามารถปลูกกล้วย มะพร้างแกง ผักต่างๆที่ปลูกไม่มีปัญหาเรื่องตลาด เพราะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ บางครั้งในหมู่บ้านหากมีงานบุญ งานเลี้ยงในชุมชน ก็นำพืชผักเหล่านี้ไปช่วยงานได้ด้วย การบริหารจัดการพื้นที่บ่อกุ้งร้างและพื้นว่าง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทบไม่มีที่ว่างเปล่า และแรงงานที่ใชเป็นแรงงานคนในครอบครัวทั้งสิ้น ด้วยความมุ่งมั่นในอาชีพที่ทำให้ตนเองพลิกจากความล้มเหลวในอดีต ได้พยายามต่อยอดความคิดที่จะทำเป็นตัวอย่างของคนในชุมชน ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมและยกย่องแนวความคิดของกลุ่มเกษตรนี้ เป็นอย่างมาก

          ในที่ประชุมกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานภาครับและเอกชน ครั้งที่ 8/2562 ประจำเดือนสิงหาคม 2562 นายไมตรี กรุณา รับเกียรติบัตร “เกษตรกรดีเด่น” ระดับเขต ประจำปี 2562 จากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการเพาะเลี้ยงน้ำจืด จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร ที่ 27 สิงหาคม 2562  ณ ห้องประชุมคีรีวง 6 ชั้น 4 โรงแรมอิโค่อินน์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

          จากการลงพื้นที่และได้พูดคุยกับนายไมตรี สกุณา พบว่า บ้านบางพระ ได้พัฒนามาเลี้ยงในกระชัง เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของอาหารและการจับ และทางโครงการฯ ได้กิจกรรมประชาสัมพันธ์และบริการให้คำปรึกษา ระหว่างวันที่ 10 – 11 พฤศจิกายน 2562 ในกิจกรรมที่ 4 ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม โดยมีสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปลานิลในบ่อกุ้งร้าง สนใจเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ จำนวน 15 คน ได้จัดกิจกรรมบริการให้คำปรึกษา ด้านปัญหาเกิดจากปัญหาโรค และสภาพอากาศ โดยมีนายธีรพงศ์ ไกรนรา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้เชี่ยวชาญ ดังกล่าว

จำนวนคนดู: 40