ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และบริการให้คำปรึกษา ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม แก่กลุ่มเกษตรกร บ้านหัวหรง ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

          เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ณ บ้านหัวหรง ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายธีรพงศ์ ไกรนรา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนางสาวพุทธพร ชุมแก้ว ธราพรสกุลวงศ์ จากฝ่ายบริหารโครงการและกิจกรรมพิเศษ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์และบริการให้คำปรึกษา กิจกรรมที่ 4 ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม แก่กลุ่มเกษตรกร บ้านหัวหรง ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายดลรอหมาน สุริยะ โต๊ะอิหม่าม ให้การต้อนรับ

          บริเวณบ้านหัวหรง ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร มีถนนสายหลักชายทะเลหัวไทร ปากพนัง เป็นพื้นที่ที่ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก ด้วยธรรมชาติและฤดูกาลเริ่มเปลี่ยนแปลง  ชาวประมงส่วนใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนเนื่องจากการหากินก็เริ่มหากินลำบากขึ้นมาตามลำดับ  เครื่องมือหากินชาวบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนจากเรือพายเรือแจว  มาเป็นเรือหางยาวและเรือยนต์เล็ก  อวนก็ตาถี่ขึ้นจากอวนตาห่างชั้นเดียวจะเป็นอวนสามชั้น  เป็นต้น สัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่นกุ้งฝอย ก็เหลือน้อยลง ๆ จนกระทั่งมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันเต็มรูปแบบ  กุ้งเคยก็หมดไปจากทะเลเป็นเวลาหลายปี  ตลอดทั้งกุ้งตัวใหญ่ ๆ ปลาหลายชนิดก็เริ่มเหลือน้อยมาก  กลุ่มประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้านแทบจะหยุดหากินกันไปชั่วขณะ  จะมีบ้างก็ต้องไปหากินตามแหล่งอื่นที่ยังพอจะหาได้  หากินได้น้อยลงตั้งปี 2534  จนกระทั้งปี 2545  และก็เริ่มฟื้นตัวใหม่ของทะเลสาเหตุเพราะเลี้ยงกุ้งกุลาดำไม่ได้แล้วในพื้นที่ตั้งแต่หลังปี 2542  หลังปิดเขื่อนปากพนังและเขื่อนเสือร้องเป็นต้นมา  จึงทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง  หากินกันได้เยอะขึ้น อีกทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ได้รับการส่งเสริมด้านการเกษตร แนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชเพื่อขาย จะได้พ้นจากความยากจน เช่น ปลูกข้าวนาปรังที่สามารถปลูกได้ปีละหลายครั้ง ผลจากกระแสการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ที่ชาวบ้านสนใจเพราะมองมูลค่า โดยลืมคุณค่า มาเป็นการตัดสินใจเลี้ยงกุ้งกุลาดำแล้วจะได้เงินหรือได้กำไรตามประแส โดยลืมไปว่าต้องมีน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เมื่อเอาน้ำเค็มเข้ามาแล้วต้องส่งผลให้อาชีพการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องใช้น้ำจืดเป็นหลักอยู่กระทบกระเทือนทันที พืชหลักต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ และใช้บริโภคกันมายาวนาน เช่น มะพร้าว กล้วย ต้องตายเพราะโดนน้ำเค็มจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ  เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติให้กลับมาอีกครั้ง

          กลุ่มประมงชายฝั่งรวมตัวกันเพาะฟักลูกปูขึ้นมา  คือ  ธนาคารปู  ที่หมู่ที่ 6  ตำบลเกาะเพชรผลิตลูกปูปล่อยลงทะเลปีละเป็นล้าน ๆ ตัวได้แพร่ขยายพันธ์ออกสู่ทะเลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกำลังของกลุ่มเท่าที่คิดและทำกันได้  ทางด้านธรรมชาติชายฝั่งก็เริ่มฟื้นขึ้นมาโดยมีกุ้งเคยปีละหลายครั้ง ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านตลอดทั้งชาวบ้านตำบลเกาะเพชร  ตำบลใกล้เคียง  รวมทั้งกลุ่มคนหลาย ๆ พื้นที่ในลุ่มน้ำปากพนังได้เห็นได้บริโภคปลา  กุ้งทะเล  ปูทะเลสด ๆ  และได้กินกะปิแท้ๆ ทำกับมือกันอีกครั้ง

          จากการลงพื้นที่และได้พูดคุยกับนายดลรอหมาน สุริยะ  ทางโครงการได้สัมผัสวิถีอาชีพในชุมชนที่ผสมผสานการเลี้ยงสัตว์น้ำ ควบคู่กับการปลูกพืชผัก ทั้งนี้ชุมชนบ้านหัวหรงได้เสนอแผนพัฒนาตำบล ต่อเทศบาลตำบลเกาะเพชร และได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2561 – 2564) ได้แก่ (1) โครงการเทศบาลทำบุญใส่บาตรทางเรือ จำนวน 10,000 บาท เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น  (2) โครงการธนาคารปู จำนวน 30,000 บาท เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง และ (3) โครงการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำและปลูกพืชผักสวนครัว จำนวน 30,000 บาท เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและปลูกพืชผัก

          การประชาสัมพันธ์และบริการให้คำปรึกษาฯ ในกิจกรรมที่ 4 ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ภายใต้โครงการ“กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าประมงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม”กำหนดจัดกิจกรรมฯ ณ ห้องดอกบัว โรงแรมทวินโลตัส ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สมาชิกในชุมชนบ้านหัวหรงได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี  ซึ่งให้ความสำคัญของอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง มีองค์ความรู้เพิ่ม ตระหนักและรับรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพอย่างสมดุล สู่การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพประมงอย่างยั่งยืน

จำนวนคนดู: 106