ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินงานโครงการพัฒนาชุดความรู้สื่อนิทานภาษาอังกฤษเพื่อเสริมประสบการณ์ด้านภาษาของเด็กปฐมวัย

          เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอาจารย์ ดร.วรรัตน์  หวานจิตต์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่เพื่อประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนาชุดความรู้สื่อนิทานภาษาอังกฤษเพื่อเสริมประสบการณ์ด้านภาษาของเด็กปฐมวัย ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา หมู่ที่ 8 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

          “โครงการพัฒนาชุดความรู้สื่อนิทานภาษาอังกฤษเพื่อเสริมประสบการณ์ด้านภาษาของเด็กปฐมวัย”ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 ซึ่งพัฒนาโครงการด้วยกระบวนการลงพื้นที่สำรวจปัญหาความต้องการด้านการศึกษาของชุมชน โดยโครงการนี้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา และองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี ในการเข้ามามามีส่วนร่วมกระบวนการดำเนินโครงการ เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาชุดความรู้สื่อประกอบแผนจัดประสบการณ์โดยใช้การเล่านิทานภาษาอังกฤษเสริมกิจกรรมให้เด็กปฐมวัย มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษในระดับที่สูงขึ้น (ฟังได้ รู้คำศัพท์) และเพื่อเสริมความเข้มแข็งรากฐานด้านการศึกษาให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป โครงการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ การสำรวจความต้องการ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ แล้วสร้างกระบวนการการเพื่อออกแบบและผลิตชุดสื่อนิทานตามแผนการจัดประสบการณ์ อบรมถ่ายทอดให้ความรู้เทคนิค แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการด้วยแผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 5 หน่วยการเรียนรู้ 5 แผนการสอน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม 2563

          ในการนี้ อาจารย์ ดร.วรรัตน์ หวานจิตต์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ และคณะทำงาน จึงได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินโครงการ ตลอดจนร่วมการสังเกตและแลกเปลี่ยนกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ร่วมกับผู้บริหาร ตัวแทนครูประจำ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา จากการร่วมสังเกตกระบวนการดังกล่าว พบว่า 1) แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย ต้องมีแนวทางแบบบูรณาการเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง และมีความสอดคล้องกับหลักการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมเสรี กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา 2) แนวทางการเสริมทักษะภาษาอังกฤษสำหรับเด็กปฐมวัย เน้นชุดคำศัพท์พื้นฐาน และประโยคง่าย ๆ เช่น ตัวเลข ร่างกาย สี สถานที่ เน้นทักษะการฟังและพูดโต้ตอบ และ3) รูปแบบสื่อนิทานที่เหมาะสม ต้องเน้นสีสันสดใส มีมิติที่สามารถจับต้องได้ เช่น หุ่นกระบอก เป็นต้น การประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และความชัดเจนที่สามารถนำไปกำหนดแนวทางการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องมีความสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่กำหนดสาระการเรียนรู้และแผนการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยแล้ว ยังเป็นการเตรียมทีมงานและครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เข้าใจหลักการและวิธีการทำงานเบื้องต้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาสร้างเครือข่ายชุมชนในการดูแลเด็กปฐมวัยให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

จำนวนคนดู: 45