ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายสุขภาพเพื่อการป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ภายใต้การดำเนินงานโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563

          เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กำไล สมรักษ์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ดร.เปรมฤดี นุ่นสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “แนวทางการสร้างความร่วมมือของเครือข่ายสุขภาพต่อการป้องกันควบคุมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          “โครงการพัฒนารูปแบบความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสุขภาพเพื่อป้องกันควบคุมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นโครงการที่เข้าไปแก้ปัญหาด้านสุขภาพโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง มุ่งเป้าหมายให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ต่อสุขภาพ และเกิดชุดความรู้รูปแบบความร่วมมือระหว่างกลุ่มเสี่ยงและครอบครัว ทีมสุขภาพ และภาคีเครือข่ายสุขภาพในการจัดการโรคที่นำไปสู่การดูแลสุขภาพของคนในชุมชนอย่างเหมาะสมและยั่งยืน มีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2563

          ในการนี้ คณะทำงานโครงการ ฯ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กำไล สมรักษ์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “แนวทางการสร้างความร่วมมือของเครือข่ายสุขภาพต่อการป้องกันควบคุมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ขึ้น โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายสุขภาพเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 34 คน ดังนี้ 1) หน่วยงานภาคีสนับสนุนวิชาการ ได้แก่ อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  2) หน่วยงานภาคีสนับสนุนการขับเคลื่อน ได้แก่ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอท่าศาลา, ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนใหม่, เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาและรพ.สต.บ้านทุ่งชน, ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.หัวตะพาน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ต.ไทยบุรี, เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน อบต.หัวตะพาน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสำนักกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร และ3) หน่วยงานภาคีปฏิบัติการในชุมชน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

          การประชุมดังกล่าวภาคีเครือข่ายสุขภาพได้ร่วมรับฟังการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงในพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา หลังจากนั้นก็ได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมได้ระดมสมองให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะพร้อมได้ร่วมกันวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงในพื้นที่ ซึ่งการประชุมมีสาระสำคัญดังนี้ คือ 1) พัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงให้ครอบคลุมในแต่ละหมู่บ้าน ได้แก่ จำนวนกลุ่มเสี่ยง จำนวนผู้ป่วยและปัญหาในการดูแลสุขภาพ ข้อมูลพฤติกรรมความเสี่ยง เป็นต้น 2) แนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มุ่งเน้นการคัดกรองผู้ป่วยตั้งแต่ระยะแรก เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม การควบคุม และป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น และการรณรงค์ในประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ป่วยโรคในพื้นที่ ตั้งแต่การสร้างวิธีการรับรู้ภาวะสุขภาพของตนเองให้ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้ป่วย โดยเฉพาะการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความรุนแรงของโรค พัฒนาเครื่องมือในการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเสริมพลังให้คนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็น อสม. ร่วมทำงานกับภาคีเครือข่าย เช่น กศน. เยาวชน นักเรียน ครู เป็นต้น ให้เข้ามาช่วยดูแลคนในชุมชนตามความชำนาญของตน โดยการช่วยกันให้คนในชุมชนเริ่มตื่นตัวและหันมาใส่ใจสุขภาพ นอกจากนี้ควรมีวิธีการรณรงค์องค์ความรู้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือของครอบครัวและชุมชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น โดนอาจจะเริ่มจากการสร้างแกนนำของชุมชน เช่น พัฒนาครัวเรือนต้นแบบ สนับสนุนการเกิดชมรมออกกำลังกาย พัฒนาเมนูอาหารลดโรค ตลอดจนการพัฒนาช่องทางติดตามเฝ้าระวังหรือระบบการให้คำปรึกษาที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น 3) แนวทางการสร้างความร่วมมือด้วยการทำงานเป็นทีมระหว่างเจ้าหน้าที่ ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ ที่มาจากหลากหลายอาชีพในชุมชนทำให้เกิดการเติมเต็มข้อจำกัดในการทำงานในการดูแล ตั้งแต่กระบวนการค้นหาวิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ร่วมกันทำงานด้วยเป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นนำไปสังเคราะห์เพื่อหาศักยภาพและโอกาสการพัฒนารูปแบบความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสุขภาพ ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป

จำนวนคนดู: 49