ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการในฐานะหน่วยพัฒนาครูมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดทำหลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านการอบรมออนไลน์และระบบออฟไลน์

          ด้วยทิศทางของการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยในยุค Thailland 4.0 มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับครูและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาตามร่างแนวทางปฎิรูปการศึกษา (2558-2564)   โดยมีประเด็นการปฏิรูปครูเรื่องการพัฒนาสมรรถนะการสอนของครูอย่างเป็นระบบ ประเด็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการศึกษามากขึ้น การพัฒนาครูตามกรอบแนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการมีแนวนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้มีโอกาสเข้ามาเป็นหน่วยงานพัฒนาครูสามารถมีการนำเสนอหลักสูตรการพัฒนาครูประจำการ ประกอบกับหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ได้กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้องเข้ามาพัฒนางานหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนาให้การรับรอง และเป็นหลักสูตรที่ทางหน่วยพัฒนาครูได้ออกแบบและสำรวจความต้องการและความจำเป็นในการนำมาพัฒนาการเรียนการสอน จำนวนไม่น้อยกว่า 12 – 20 ชั่วโมงต่อปีนั้น การนำเสนอหลักสูตรเพื่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีกรอบแนวคิดของหลักสูตรเพื่อออกแบบหลักสูตร เพื่อให้หน่วยพัฒนาครูใช้เป็นแนวทางในการออกแบบหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ซึ่งในยุคที่ทุกสิ่งเข้าสู่โลกดิจัทัล และสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเรื่องของแนวโน้มการตลาด  สื่อสังคมมออนไลน์ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือธุรกิจไปจนถึงภาครัฐ สำหรับส่วนของการศึกษามีการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน 

          จากสถานการณ์การแพร่เชื้อของโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ทำให้ส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนของครู ส่งผลให้การเปิดภาคเรียนต้องเลื่อน ทำให้ครูมีเวลาในการเตรียมการสอน และมีเวลาในการที่จะพัฒนาตนเอง และพัฒนาวิชาชีพ เพื่อนำวิธีการ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ไปใช้ในการสอน ดังนั้นมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสอน และบริการวิชาการ รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน จะเห็นว่าการใช้จุดเด่นของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรครูของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญในการบริการสังคมในสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีความถนัดและเป็นที่ต้องการของครูผู้สอน ประกอบกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีเครือข่ายในการจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และเป็นภารกิจตอบโจทย์วิสัยทัศน์”เป็นหลักในถิ่น” ดังนั้น ศูนย์บริการวิชาการจึงได้มีกรอบแนวคิดในการพัฒนาการเรียนการสอนโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาครูในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัย และขยายไปรอบ ๆ ทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง โดยนำศาสตร์และศิลป์ และองค์ความรู้ภายในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดไปยังโรงเรียนเพื่อพัฒนาทักษะการสอน และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นเมื่อวันที่ 2 และ 5 พฤษภาคม 2563 นำโดย ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ร่วมมือกับสำนักวิชาต่าง ๆ  เพื่อออกแบบหลักสูตรการพัฒนาครูตามความต้องการและจำเป็นการนำไปใช้ในโรงเรียน จึงมีการจัดทำหลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านการอบรมออนไลน์และระบบออฟไลน์ ซึ่งมีจำนวน 4 หลักสูตร ประกอบด้วย

    1) หลักสูตรการจัดการเรียนรู้บรูณาการกับสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 จากสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป  

    2) หลักสูตรการพัฒนาความรู้และทักษะวิชาชีพงานคหกรรมเพื่อการเสริมสร้างอาชีพในศตวรรษที่ 21 (โภชนาการ ความปลอดภัยอาหาร เทคนิคการประกอบอาหาร เทคนิคเบเกอรี่ขนมอบ) จากสำนักวิชาการจัดการ

    3) หลักสูตรการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอินโฟกราฟิกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จากสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์  

    4) หลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้กระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัย จากศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

จำนวนคนดู: 56