ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ (สาขาวิชากายภาพบำบัด) ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ เร่งเคลื่อนออกเยี่ยมบ้านและให้โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวแก่ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง

          ระหว่างวันที่ 5 – 12 มิถุนายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ อาจารย์จารุภา เลขทิพย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา “ออกเยี่ยมบ้านและให้โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวแก่ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง” ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

          โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 มุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียงมีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ดี ตลอดจนผู้ดูแล ครอบครัว ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปดูแลญาติ คนใกล้ชิด หรือแนะนำผู้อื่นให้ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งสร้างเครือข่ายพัฒนาเป็นระบบการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงในอนาคต ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2563 การดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและประเมินคัดกรองปัญหา จำนวน 11 ราย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง รองลงมา ปัญหาการทรงตัวบกพร่อง และปัญหาข้อต่อยึดติด กล้ามเนื้อหดรั้ง ร้อยละ 70  และปัญหาระบบหายใจ ร้อยละ 45 โดยได้นำข้อมูลปัญหาดังกล่าวไปออกแบบโปรแกรมการฟื้นฟูที่สอดคลองกับปญหารายบุคคล อาทิเช่น สื่อประกอบการฟื้นฟูฯ และอุปกรณ์ฟื้นฟูเฉพาะราย ได้แก่ รอกออกกำลังกาย ราวฝึกเดิน ถุงทราย เป็นต้น

          ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการและคณะทำงานโครงการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรม ดังนี้ ๑) ประเมินปัญหาทางการเคลื่อนไหวและทดสอบสมรรถภาพซ้ำ (Recheck) เพื่อยืนยันเป้าหมายของระดับการฟื้นฟูฯ ของรายบุคคล หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2) ดำเนินการโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวแก่ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง จำนวน 7 ราย โดยให้โปรแกรมฟื้นฟูฯ ได้แก่ การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพิ่มการทรงตัว และการเคลื่อนไหวข้อต่อด้วยผู้อื่น โปรแกรมวิธีการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงอย่างถูกวิธี ตลอดจนให้คำแนะนำกับผู้ดูแล เจ้าหน้าที่รพ.สต. และอสม. นอกจากนี้ได้ประเมินปัญหาทางการเคลื่อนไหวและทดสอบสมรรถภาพซ้ำ และ3) สำรวจผู้ป่วยรายใหม่ ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ ได้กำหนดแผนให้การฟื้นฟูฯ โดยนักกายภาพบำบัด นักศึกษา และแกนนํา ซึ่งมีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 12 สัปดาห์ พร้อมทั้งติดตามประเมินผล และพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงระดับชุมชนด้วย “หลักสูตรการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง” สำหรับ อสม.ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป

จำนวนคนดู: 69