ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดโครงการจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้า "มังคุดเขาคีรีวง"

          ม.วลัยลักษณ์ โดย สำนักวิชาการจัดการ และศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา  และหน่วยงานราชการในจังหวัดนครศรีธรรมราช และเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมจัดประชุมชี้แจงโครงการจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้ามังคุดเขาคีรีวง เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย “สินค้ามังคุดเขาคีรีวง”  ให้เเก่เกษตรกรชาวสวนมังคุดหมู่บ้านคีรีวง โดยมี นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวชุมชนบ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2563

 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดการประชุมชี้แจงโครงการจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้ามังคุดเขาคีรีวงในครั้งนี้   ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นในการจัดเตรียมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยที่มีศักยภาพ ให้ได้รับความคุ้มครองในประเภทของสินค้ามังคุดเขาคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคณะทำงาน คณาจารย์ ม.วลัยลักษณ์และภาคีเครือข่ายส่วนราชการ จ.นครศรีธรรมราช จะดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจร่วมกับชุมชนเรื่องประโยชน์ของการขึ้นทะเบียน GI และรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนร่วมจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยในการขึ้นทะเบียนในประเทศ ตลอดจนจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และจัดให้มีการตรวจสอบรับรองผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าที่ประสงค์ขออนุญาตสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการศึกษาข้อมูลสินค้าเบื้องต้น ทั้งกระบวนการผลิต  ปริมาณการผลิต จำนวนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการค้า พื้นที่การผลิต เป็นต้น ในการดำเนินการยื่นคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับกลุ่มเป้าหมายในโครงการ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดประชุมชี้แจงโครงการจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้ามังคุดเขาคีรีวงในครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงเป็นการดำเนินงานของทีม ม.วลัยลักษณ์ที่ได้ดำเนินการเพื่อผลักดันให้เกิดการจดทะเบียนสินค้ามังคุดเขาคีรีวง ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์มีความแตกต่างจากมังคุดทั่วไป โดยเป็นมังคุดที่ปลูกอยู่ในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 200 เมตรในแถบบริเวณเทือกเขา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลมีขนาดใหญ่ เฉลี่ยใหญ่สุดที่น้ำหนัก 4  ลูก /1 กิโลกรัม ลักษณะลูกกลม เปลือกหนา ผิวมันวาว หูและกลีบขั้วสีเขียวสด ก้นรี มีรสชาติ
เปรี้ยวอมหวาน เนื้อผลเป็นสีขาว พื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ควรปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ ได้แก่ สะตอ ประ หมาก เป็นต้น ซึ่งเป็นการปลูกในลักษณะสวนสมรม เพราะ “มังคุดเขาคีรีวง” ต้องการแดดรำไร ควรมีร่มเงาจากไม้อื่นเป็นที่บดบังแสงแดด ซึ่งนับเป็นการอนุรักษ์ป่าธรรมชาตินอกเหนือจากการสร้างรายได้ของเกษตรกรอีกด้วย

          การประชุมชี้แจงโครงการ จัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้ามังคุดเขาคีรีวง ในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับฟังการบรรยายเรื่อง “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทย” โดยนายปฏิพัทธ์ ปานสุนทร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา การนำเสนอ “การดำเนินงานเพื่อขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้ามังคุดเขาคีรีวง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จากนั้นเป็นการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อขึ้นทะเบียนในประเทศสินค้ามังคุดคีรีวงให้เเก่เกษตรกร

ภาพและข่าวโดย นางสาวชลธิชา ปานแก้ว  ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ที่มา https://intranet.wu.ac.th/th/detail/18323

จำนวนคนดู: 63