ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ร่วมภาคีเครือข่าย ผลักดัน “มังคุดเขาคีรีวง”ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ตัวที่สองของเมืองคอน

          ม.วลัยลักษณ์ ร่วมภาคีเครือข่าย เป็นแกนนำขับเคลื่อนการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “สินค้ามังคุดเขาคีรีวง” โดยมีนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ลงพื้นที่รับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานและรับมอบคำขอขึ้นทะเบียน GI ณ ห้องประชุม ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าคำขอจะผ่านการพิจารณาสามารถเป็นสินค้า GI ตัวที่ 2 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อจากส้มโอทับทิมสยาม

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า จากการดำเนินงานลงพื้นที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมค้นหาอัตลักษณ์ตามหลักทางภูมิศาสตร์ หรือ GI โดยการเก็บข้อมูลจากสวนตัวอย่างกว่า 300 สวน ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญบ่งชี้ถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมังคุดเขาคีรีวง คือ ผลมีขนาดใหญ่ เฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-9 เซนติเมตร น้ำหนัก 4 ผล/ 1กิโลกรัม ลูกกลม เปลือกหนา ผิวมันวาว หูและกลีบขั้วสีเขียวสด ก้นรี มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เนื้อผลเป็นสีขาว  ซึ่งลักษณะโดดเด่นนี้เป็นผลมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่แตกต่าง ทำให้ชาวสวนสามารถผลิตมังคุดได้ทั้งปีเฉลี่ย 1,000-1,500 ตัน/ปี โดยมังคุดจะทยอยออกผล ยิ่งพื้นที่สูงจะยิ่งออกผลช้า ทำให้เป็นข้อดีทางการตลาด โดยสามารถขายได้ราคาสูง  เฉลี่ยกิโลกรัมละ 400-500 บาท โดยพื้นที่ที่สามารถขอขึ้นทะเบียน GI สินค้ามังคุดเขาคีรีวงได้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 38,500 ไร่  ทั้ง ต.กำโลน และบางหมู่บ้านของ ต.ท่าดี และ ต.เขาแก้ว ของอำเภอลานสกา อีกทั้งมีลักษณะการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาวคีรีวง คือ การใช้รถ Zero ขึ้นไปเก็บมังคุดบนเขาซึ่งมีเฉพาะที่นี่เท่านั้น 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งรวี  กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานมาตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา วันนี้เป็นโอกาสดีที่ชาวคีรีวงและเกษตรกรจะได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้ามังคุดเขาคีรีวงแก่นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีนายวิรัตน์ ตรีโชติ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมชุมชนคีรีวง เป็นตัวแทนในการยื่นคำขอ  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการดำเนินงานทั้งหมดนี้ที่ ม.วลัยลักษณ์และทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันจะทำให้มังคุดเขาคีรีวงผ่านการพิจารณาเป็นสินค้า GI ทำให้มังคุดเขาคีรีวงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรต่อไป 

 

          นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียน GI “มังคุดเขาคีรีวง”  ได้ในเร็วๆนี้ พร้อมกันนี้จะร่วมหารือกับหน่วยงานในพื้นที่คุมเข้มกระบวนการผลิตและเตรียมจัดทำแผนควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อรักษามาตรฐานสินค้า ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายสามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI และมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศโดยกรมฯจะผลักดันต่อไป 

          การจัดทำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์”มังคุดเขาคีรีวง” ในครั้งนี้ ม.วลัยลักษณ์โดยสำนักวิชาการจัดการและศูนย์บริการวิชาการ ได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา คณะผู้แทนจากหน่วยงานในจังหวัดนครศรีธรรมราช อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่ ลงพื้นสำรวจ ประชุมหารือสรุปผลการดำเนินงานและนำเสนอความคืบหน้าในการจัดทำร่างคำขอขึ้นทะเบียน GI รวมถึงคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ที่จะขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI และแผนการควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อีกด้วย

ข่าวและภาพ โดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

ที่มาของข่าว: https://intranet.wu.ac.th/th/detail/18347

 

จำนวนคนดู: 43