ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ นายอำเภอท่าศาลาและคณะลงพื้นที่เยี่ยมและมอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นแก่ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา
          เมื่อวันศุกร์ ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ นายสุพงษวินัย ชูยก นายอำเภอท่าศาลา กาชาดอำเภอท่าศาลา ประชาชนจิตอาสา กำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แกนนำอาสาสมัครสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ลงพื้นที่เยี่ยม มอบเงินช่วยเหลือ พร้อมเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long term care) ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช “โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียงมีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ดี ตลอดจนคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปดูแลญาติ คนใกล้ชิด หรือแนะนำผู้อื่นให้ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงได้อย่างถูกวิธี รวมทั้งสร้างเครือข่ายพัฒนาเป็นระบบการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงในอนาคต โดยการดำเนินการที่ผ่านมา สาขาวิชากายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ได้จัดทำ “หลักสูตรการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ” การดำเนินการที่ผ่านมาขณะนี้ โครงการฯ ได้ผลิตแกนนำสุขภาพฯ จำนวน 6 คนที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงได้
          ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะบทบาทหน่วยงานที่มีภารกิจหลักงานยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาด้วยวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) และผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้นำ นายสุพงษวินัย ชูยก นายอำเภอท่าศาลา ลงพื้นที่เยี่ยม พูดคุยและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง มอบเงินช่วยเหลือ พร้อมเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง จำนวน 5 ราย และดูการปฏิบัติงานของแกนนำสุขภาพในโครงการฯ ดูแลฟื้นฟูฯ ผู้ป่วยด้วยโปรแกรมกายภาพบำบัด นอกจากนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนการทำงานยกระดับพัฒนาระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long term care) ซึ่งเป็นบริการเชิงรุกให้บริการถึงบ้านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 

จำนวนคนดู: 52