ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาต้นแบบสูตรอาหารสำหรับสุกรด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น
          เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2563 เวลา 08.30 – 12.00 น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย อาจารย์ ดร.ปรัชญาพร เอกบุตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมจัด “กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตอาหารอย่างง่ายสำหรับสุกรแม่พันธุ์เลี้ยงลูก” ณ ห้องปฏิบัติการอาหารสัตว์น้ำ อาคารศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (B3) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  “โครงการพัฒนาสูตรอาหารสุกรแม่พันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต” ภายใต้โครงการวิชาการรับใช้สังคม ประจำปี 2563 มุ่งยกระดับต่อยอดอาชีพให้ความรู้เรื่องอาหารสุกร พร้อมทั้งพัฒนาต้นแบบการผลิตอาหารสำหรับแม่สุกรเลี้ยงลูกให้ได้อาหารสุกรคุณภาพ ด้วยกระบวนการที่เน้นความต้องการของชุมชน ร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน โดยกลุ่มเป้าหมายและภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมและเกิดความร่วมมือในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงพื้นที่ รับฟังความคิดเห็น ประชุมสรุปปัญหาและจัดลำดับความสำคัญของปัญหา สำรวจข้อมูลรายฟาร์มสุกรแม่พันธุ์ จัดทำระบบข้อมูลพื้นฐานรายฟาร์ม ออกแบบและทดสอบการใช้สูตรอาหารหมูที่ใช้วัสดุท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 จากผลลัพธ์ที่สำคัญภายหลังจากการทดสอบการใช้สูตรอาหารสุกรดังกล่าว ทำให้สุขภาพของแม่ดีขึ้น ติดสัดเร็วขึ้น สุขภาพน้ำหนักของสุกรหย่านม ได้มาตรฐาน ต้นทุนการผลิตด้านอาหารลดลง ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น
           ในการนี้ อาจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ จึงได้จัด “กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตอาหารอย่างง่ายสำหรับสุกรแม่พันธุ์เลี้ยงลูก” ให้แก่เกษตรกรเลี้ยงสุกร ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา จำนวนทั้งสิ้น 15 คน ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารสุกรแม่พันธุ์ ด้วยได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมเรื่องสูตรอาหารสุกรแม่พันธุ์เลี้ยงลูก พร้อมทั้งสาธิตและให้เกษตรกรลงมือปฏิบัติการผลิตอาหารรายกลุ่มด้วยตนเอง เพื่อนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อยอดต้นแบบการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารสุกรด้วยวัสดุท้องถิ่นที่เหมาะสมได้รับการนำไปใช้ในพื้นที่อื่นที่สนใจ ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้น และมีการต่อยอดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทางคณะทำงานได้มีแนวทางในการดำเนินงานต่อเนื่องในปีถัดไป คือ การยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสุกรตลอดห่วงโซ่แบบครบวงจร ต่อยอดกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรชุมชน
จำนวนคนดู: 49