ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
English
ไทย
หน้าหลัก
เกี่ยวกับศบว
เกี่ยวกับศูนย์บริการวิชาการ
โครงสร้างองค์กร
บุคลากร
ทำเนียบผู้เชี่ยวชาญ
ชุมชนต้นแบบ
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
รางวัลและความภาคภูมิใจ
ติดต่อเรา
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ โรงเรียนชุมชนใหม่ พัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “ติดอาวุธทักษะอาชีพนักเรียน 1 ชั้น 1 อาชีพ”
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยอาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ จัด “การประชุมการจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่” ณ ห้องประชุม ชั้น 1 โรงเรียนชุมชนใหม่ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช “โครงการจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่” ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทักษะอาชีพผู้ประกอบการและบูรณาการการเรียนการสอนแก่นักเรียน 1 ชั้น 1 อาชีพ มีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 ที่ผ่านมาคณะทำงานได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรแกนกลาง ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา ประชุมปรึกษาแนวทางการจัดทำหลักสูตร จัดทำร่างแผนการเรียนรู้ ปรับปรุงร่างแผนการจัดการเรียนรู้ และคณะครูได้จัดทำหน่วยการเรียนรู้
ในการนี้ อาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้จัดประชุมร่วมกับ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการ และคณะครูโรงเรียนชุมชนใหม่ ทั้งสิ้น 16 คน ในการประชุมครั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้นำเสนอผลการจัดกิจกรรมตามแผนกิจกรรมรายชั่วโมงของหน่วยการเรียนรู้หลักสูตรฯ ซึ่งได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระหว่างวันที่ 1 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชาเพื่ออาหารกลางวัน โดยคณะทำงานโครงการ ฯ ร่วมดำเนินการ สนับสนุนองค์ความรู้วิชาการและปัจจัยการผลิตสำหรับกิจกรรมดังกล่าวด้วย ในที่ประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะเพื่อปรับปรุงรูปแบบการจัดกิจกรรมตามแผน พร้อมทั้งร่วมออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ สมุดบันทึก เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ของผู้เรียน นอกจากนี้ ยังร่วมกันระดมความคิด ค้นหาอัตลักษณ์ของแบรนด์สินค้าของโรงเรียน ในนาม “Happy School” โรงเรียนอยู่ดีมีสุข สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปปลอดภัยจากโรงเรียนชุมชนใหม่ เพื่อสร้างจุดขายและนำเสนอต่อตลาด ผลลัพธ์ที่สำคัญภายหลังจากการดำเนินโครงการ คือ หลักสูตรบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่ (1 ชั้น 1 อาชีพ) ช่วงชั้นที่ 1 กลุ่มอาชีพผลิตพืชและสัตว์ (พืชผัก, เห็ด,ไก่ไข่) ช่วงชั้นที่ 2 กลุ่มอาชีพผลิตสัตว์และประมง (เป็ด, สุกรขุน, ปลาน้ำจืด) และช่วงชั้นที่ 3 กลุ่มอาชีพแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (อาหาร/ของใช้ จากสัตว์ ผลไม้ พืช) ตลอดจนนักเรียนมีความรู้และสามารถขยายผลไปใช้ได้ในครัวเรือนและจำหน่ายสู่สหกรณ์โรงเรียน ดังนั้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้นและมีการต่อยอดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทางคณะทำงานโครงการได้กำหนดแผนงานระยะยาวที่มุ่งสู่การพัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบองค์รวม
จำนวนคนดู:
47