ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผนึกกำลัง องค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี ขับเคลื่อนจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบของจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ตอนบนในอนาคต ด้วยหลักสูตร High-scope
          เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563  สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ท่านคณบดี รศ.ดร.จีรเกียรติ อภิบุณโยภาส รองคณบดี ผศ.ดร.ไพโรจน์ นวลนุ่ม และ อ.ดร.พงศ์พันธุ์ คำพรรณ์ พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ได้จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบของจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ตอนบนในอนาคต” ภายใต้โครงการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Early Childhood Education Equity Project: ECEEP)  ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี
          โครงการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กปฐมวัย (ECEEP)  ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) เป็นโครงการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถและปิดช่องว่างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ “High Scope” กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 392 ศูนย์ 154 องค์การบริหารส่วนตำบล 27 อำเภอ ครอบคลุมเด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 3 – 6 ปี ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี โดยในปีงบประมาณ 2564 จะเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 1 การสำรวจสถานการณ์เด็กปฐมวัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช และยกระดับคุณภาพการศึกษาสถานศึกษานำร่อง (Pilot project) ด้วยหลักสูตร High-scope ใน ศพด.สังกัดอบต.ไทยบุรี  โดยโครงการวิชาการรับใช้สังคมนี้จะก่อให้เกิดผลผลิตเชิงนวัตกรรมในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยและนำไปเป็นต้นแบบในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัยของท้องถิ่นต่อไปในอนาคต สำหรับผลผลิตเชิงวิชาการในการได้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในอนาคต ตลอดจนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายข้อที่ 4 “Quality Education” ส่งเสริมทำให้ได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals”ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้แก่ สำนักวิชาการจัดการ ศูนย์บริการวิชาการ และสำนักวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ (1) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2) สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนระดับชั้นอนุบาลสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช (4) ท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช (5) คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัยจังหวัดนครศรีธรรมราช (6) องค์กรภาคเอกชน และ (7) องค์กรอิสระทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
          ในการนี้ รศ.ดร.จีรเกียรติ อภิบุณโยภาส ประธานที่ปรึกษาโครงการ ผศ.ดร.ไพโรจน์ นวลนุ่ม ที่ปรึกษาโครงการ และ อ.ดร.พงศ์พันธุ์ คำพรรณ์ หัวหน้าโครงการ ได้นำเสนอภาพรวม กรอบแนวคิดของการดำเนินโครงการ หลังจากนั้นได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยน ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี นำโดย ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท่านปลัดฯ ผู้อำนวยการกองการศึกษา และคณะครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ศพด.โคกเหล็ก) เพื่อให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ พร้อมได้ร่วมกันวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงบูรณาการความร่วมมือ โดยในที่ประชุม คณะผู้บริหารของ อบต.ไทยบุรี และคณะครู ได้ให้ความสำคัญและพร้อมให้ความร่วมมือทั้งทางด้านวิชาการ บุคลากร และงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กปฐมวัย สู่ การจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบของจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ตอนบนในอนาคต ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นนำไปสังเคราะห์เพื่อหาศักยภาพและโอกาสการพัฒนาความร่วมมือและยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กปฐมวัย ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป
จำนวนคนดู: 25