ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ โรงเรียนชุมชนใหม่ พัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมขยายผลสู่โรงเรียนเครือข่าย
          เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยอาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ จัดประชุมเพื่อระดมความเห็น เรื่อง “การขับเคลื่อนพัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่ และการขยายผลในโรงเรียนเครือข่ายชุมชนรายรอบ” ณ ห้องประชุม ชั้น 1 โรงเรียนชุมชนใหม่ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
          “โครงการพัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนชุมชนใหม่ และโรงเรียนพื้นที่ชุมชนรายรอบ” ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2564 เป็นโครงการต่อเนื่อง เป็นปีที่ 2 มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทักษะอาชีพผู้ประกอบการ มีการบูรณาการการเรียนการสอนแก่นักเรียน สู่การพัฒนาต้นแบบหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน และสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดความรู้การนำหลักสูตรฯ ไปเผยแพร่ขยายพื้นที่ในโรงเรียนรายรอบ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายข้อที่ 4 “Quality Education” ส่งเสริมทำให้ได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals”ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายใน และนอกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
          ในการนี้ อาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้จัดประชุมดังกล่าวขึ้น ร่วมกับ โรงเรียนเรียนชุมชนใหม่ นำโดย นายไฟซอล ยีโกบ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการ และคณะครู เพื่อปรึกษาแนวทางความเป็นไปได้ ร่วมกำหนดแผนเชิงบริหาร ยุทธศาสตร์และวิธีดำเนินการ ตลอดจนประชุมร่วมกับครูสร้างความเข้าใจ กำหนดแผนปฏิบัติงาน และร่วมพิจารณารูปแบบการดำเนินงาน พร้อมได้ร่วมกันวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงบูรณาการความร่วมมือ ในที่ประชุม คณะผู้บริหารของโรงเรียนได้ให้ความสำคัญและพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่ โรงเรียนศูนย์เรียนรู้หลักสูตรบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และขยาย ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นนำไปสังเคราะห์เพื่อหาศักยภาพโอกาสการพัฒนาความร่วมมือและถ่ายทอดความรู้การนำหลักสูตรฯ ไปเผยแพร่ขยายพื้นที่ในโรงเรียนรายรอบ ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป
จำนวนคนดู: 27