ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ โรงเรียนชุมชนใหม่ ผลักดันสู่โรงเรียนแกนนำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเต็มรูปแบบ
          เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี และอาจารย์มณีรัตน์ กำลังเกื้อ สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการจัดกิจกรรม “ประชุมวางแผนการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อ” ร่วมกับ นายไฟซอล ยีโกบ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนใหม่ และคณะครู จำนวน 15 ท่าน และหน่วยงานภาคีพัฒนา เจ้าหน้าที่สำนักกิจกรรมเครือเบทาโกร เครือเบทาโกร ณ ห้องประชุมอาคาร 1 โรงเรียนชุมชนใหม่ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
          โครงการพัฒนาหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่ และโรงเรียนพื้นที่ชุมชนรายรอบ ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ดำเนินการต่อเนื่อง เป็นปีที่ 2 ประจำปี 2564 มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทักษะอาชีพผู้ประกอบการ มีการบูรณาการการเรียนการสอนแก่นักเรียน สู่การพัฒนาต้นแบบหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน และสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดความรู้การนำหลักสูตรฯ ไปเผยแพร่ขยายพื้นที่ในโรงเรียนรายรอบ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัก (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายข้อที่ 4 “Quality Education” ส่งเสริมทำให้ได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและนอกของมหาวิทยาลัย
          ในการนี้ อาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินการโครงการ ปี 2563 “พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ฯ ควบคู่จัดทำหลักสูตรฯ” ซึ่งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มเพื่อให้ได้ต้นแบบหลักสูตร และการทดลองใช้หลักสูตร การทำงานได้รับความร่วมมือจากครูในโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถร่วมจัดทำหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิด (ร่าง) หลักสูตร ฯ ต้นแบบอันจะต้องนำไปพัฒนาต่อยอด นักเรียนได้รับความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปต่อยอดประกอบเป็นอาชีพของตนเองเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้ นอกจากนี้โรงเรียนมีวัตถุดิบเพื่อใช้ในการประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน ตลอดจนได้ปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ฯ ให้มีฐานการเรียนรู้สอดคล้องกับการเรียนการสอนหลักสูตรฯ นอกจากนี้ คณะทำงานโครงการฯ ได้หารือร่วมกับโรงเรียนชุมชนใหม่ นำโดย นายไฟซอล ยีโกบ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการ และคณะครู เรื่องการดำเนินการ “ต่อยอด ขยายผลโครงการ” ปีที่ 2 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นร่วมกัน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน “โรงเรียนชุมชนใหม่” สู่โรงเรียนแกนนำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเต็มเต็มรูปแบบ โดยมีแผนงานสำคัญ คือ
     1) ประเมินหลักสูตรและการนำหลักสูตรฯ มาใช้ โดยการนำ (ร่าง) หลักสูตรฯ เสนอผู้ทรงคุณวุฒิ ปรับปรุง (ร่าง) หลักสูตรฯ ตามข้อเสนอแนะ ดำเนินงานตามแผนการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 2/2563 โดยจะมีการปรับหน่วยการเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ และงานสื่อสารประชาสัมพันธ์งานพัฒนาหลักสูตรฯ (นิทรรศการแสดงผลงาน)
     2) สร้างเครือข่ายขยายผลชุมชน โรงเรียนชุมชนรายรอบ ด้วยการสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดความรู้หลักสูตรฯ สู่โรงเรียนรายรอบพร้อมทดลองการใช้ (ร่าง) หลักสูตร จำนวน 3 โรงเรียน รวมทั้งการขยายผลสู่ครัวเรือนนักเรียนแกนนำในชุมชน
     3) ปรับปรุงหลักสูตรฯ และพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนของครูแกนนำ ประกาศใช้หลักสูตรฯ ฉบับสมบูรณ์ ดำเนินงานตามแผนการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 1/2564 ปรับปรุงหลักสูตรฯ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของครูแกนนำหลักสูตรฯ และแนวทางการพัฒนาตำแหน่งความก้าวหน้าทางวิชาชีพด้วยภาระงานพัฒนาหลักสูตรฯ
ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอนำไปสังเคราะห์เพื่อพัฒนาความร่วมมือและถ่ายทอดความรู้การนำหลักสูตรฯ ไปใช้และเผยแพร่ขยายพื้นที่ในโรงเรียนรายรอบ ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป
จำนวนคนดู: 104