ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ส่งมอบผู้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ University to Tumbon ; U2T ลงพื้นที่ใน 36 ตำบล

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่าหลังจากที่มหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการรับสมัครบุคคลเพื่อจ้างงานในระหว่างวันที่ 11 – 31 ธันวาคม 2564 มีผู้สมัครเข้าร่วมการคัดเลือกกว่า 3,000 คน  และทางมหาวิทยาลัยได้คัดเลือกผู้ปฏิบัติงานในโครงการ ในพื้นที่ 36 ตำบล โดยมีจังหวัดกระบี่ 2 ตำบล จังหวัดชุมพร 1 ตำบล จังหวัดนครศรีธรรมราช 26 ตำบล  และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 7 ตำบล จำนวน 720 ตำแหน่ง โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัย ได้ส่งมอบผู้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ University to Tumbon ; U2T ลงพื้นที่ใน 36 ตำบล และทำการปฐมนิเทศผู้ปฏิบัติงานไปแล้วเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

          สำหรับผู้ปฏิบัติงาน 18 คนประกอบด้วย ตำแหน่งนักจัดการทางสังคม 8 คน ตำแหน่งนักส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาตำบล 5 คน และตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ 5 คน  แต่ละตำบลจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา เป็น PM (Project Manager) ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ระดมคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนทั้งสิ้นกว่า 18 คน โดยในแต่ละพื้นที่จะร่วมกับผู้บริหารโครงการจากหน่วยงานในพื้นที่ เป็น AM (Area Manager) เพื่อช่วยกันออกแบบและขับเคลื่อนกิจกรรมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ตามศักยภาพของแต่ละชุมชน ที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ในมิติอื่น ๆ เช่นด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมความรักความสามัคคีในชุมชน เป็นต้น สำหรับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล ที่มหาวิทยาลัยได้จัดส่งผู้ปฏิบัติงาน ไปปฏิบัติงานประจำ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ตำบล (ทต. ทม. ทน. อบต.) ที่ทำการปกครองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด/อำเภอ เกษตรอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ตชด. ทั้งในส่วนของจังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          ส่วนผู้ปฏิบัติงานอีก 2 คน รวมทั้งสิ้น 72 คน เราเรียกว่า “นักจัดการข้อมูลดิจิตัลภาครัฐ” จะถูกส่งตัวไปยังหน่วยงานความร่วมมือ ที่จะไปดำเนินการจัดทำข้อมูลของส่วนราชการเป็นข้อมูลดิจิตัล (Digitalizing Government Data) ประกอบด้วย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกระบี่ , ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช , สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช , สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร , สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาล สุราษฎร์ธานี

          โดยหลังจากที่ได้มีการปฐมนิเทศสร้างความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการและแนวทางการดำเนินงานแล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละพื้นที่ หรือ PM ได้เริ่มปฏิบัติการนำผู้ปฏิบัติงานไปส่งมอบและสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือให้โครงการได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยผู้ปฏิบัติงานจะปฏิบัติงานประจำ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ หรือบางตำบลอาจกระจายไปอย่างหน่วยงานอื่น โดยมีเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 11 เดือน นับเป็นโครงการสำคัญที่จะทำให้ สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทั้ง 76 แห่ง ได้ปฎิบัติภารกิจในการสร้างรากแก้วให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสารการดำเนินงานของโครงการได้ที่ https://cas.wu.ac.th/u2tambon/

จำนวนคนดู: 53