ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

แผนงานการบริการวิชาการ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน คือ เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล ซึ่งจากวิสัยทัศน์ระบุ “เป็นหลักในถิ่น” มหาวิทยาลัยได้กำหนด พันธกิจขององค์กรในด้านบริการวิชาการ แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในด้านการบริการวิชาการ และวิชาการรับใช้สังคมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับพื้นที่ ภูมิภาค และประเทศชาติ โดยได้เปิดเผยข้อมูลวิสัยทัศน์และภารกิจกิจในหน้า website หลักของมหาวิทยาลัย

งานด้านการบริการวิชาการได้กำหนดชัดในแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พร้อมกำหนดตัวชี้วัดหลักในการประเมินการทำงานตามเป้าหมาย จำนวนผลงานนำไปใช้ประโยชน์ ร้อยละความพึงพอใจของการรับบริการ

ในด้านโครงสร้างการทำงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดตั้งศูนย์บริการวิชาการ เพื่อเป็นศูนย์กลางดำเนินงานบริการวิชาการ และวิชาการรับใช้สังคม โดยทำงานเชื่อมโยงกับสำนักวิชา ศูนย์ความเป็นเลิศ และหน่วยงานอื่นๆภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อขับเคลื่อนงานยกระดับผลกระทบของการประยุกต์ใช้วิชาการเพื่อแก้ปัญหาสังคมตามความต้องการของผู้รับบริการ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเชิงพื้นที่ระบุตามลำดับความสำคัญเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรายรอบในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคใต้ และในระดับประเทศ ตามลำดับบนพื้นฐานโจทย์การบริการวิชาการที่มาจากความต้องการของชุมชน

มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลตัวบ่งชี้ด้านบริการวิชาการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงานในทิศทางเดียวกันบนแนวทางการประกันคุณภาพ รวมทั้งเพื่อร่วมขับเคลื่อนงานบริการวิชาการในภาพรวมของมหาวิทยาลัย โดยศูนย์บริการวิชาการได้กำหนดทิศทางงานบริการวิชาการ และวิชาการรับใช้สังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนแบบองค์รวม (Holistic model) เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และนำมาสู่ความยั่งยืน เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนอยู่ดีมีสุขแบบองค์รวม โดยได้จัดทำแนวคิดการทำงานโดยใช้แบบจำลองที่ชื่อว่า “ต้นไม้แห่งความสุข มวล.” (WU HAPPY TREE) ซึ่งต้นไม้แห่งความสุขดังกล่าวประกอบด้วย 5 กิ่งก้านสาขา ได้แก่ มิติอาชีพ การศึกษา สุขภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรม

 

ศูนย์บริการวิชาการมีบทบาทเป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสำนักวิชาต่างๆถ่ายทอดและใช้ประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นฐานของความต้องการและปัญหาของชุมชนโดยร่วมมือทำงานระหว่าง 16 สำนักวิชา และ 3 วิทยาลัย โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้อย่างน้อยร้อยละ 5 ของคณาจารย์ในแต่ละสำนักวิชาร่วมจัดทำโครงการบริการวิชาการ และวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ในมิติต่างๆ 5 มิติ ดังกล่าวข้างต้น ตามความต้องการของชุมชน และลำดับความสำคัญของปัญหาที่ชุมชนต้องการเร่งด่วน

 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยศูนย์บริการวิชาการได้กำหนดลำดับความสำคัญของพื้นที่การให้บริการตามโจทย์ปัญหาและระยะห่างของพื้นที่รับบริการกับที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ตอบโจทย์วิสัยทัศน์เป็นหลักในถิ่น ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่ชุมชนรายรอบ/ พื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง/พื้นที่อื่นๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช/ พื้นที่ภาคใต้/และโครงการบริการวิชาการที่ส่งผลกระทบระดับประเทศและต่างประเทศ

จำนวนคนดู: 20