ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ เครือข่ายการวิจัยภูมิภาค ภาคใต้ จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ในการเลี้ยงและขยายพันธุ์ผึ้งชันโรง (อุง) ให้กับชุมชนบ้านเขาวัง ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

          วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566  ศูนย์บริการวิชาการ และสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผศ.ดร.ฉวีวรรณ  คล่องศิริเวช  ร่วมกับ เครือข่ายการวิจัยภูมิภาค ภาคใต้  จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ในการเลี้ยงและขยายพันธุ์ผึ้งชันโรง (อุง) เพื่อเป็นอาชีพเสริม ให้กับพี่น้องในชุมชนบ้านเขาวังและพื้นที่ใกล้เคียง ณ ศูนย์วิจัยชุมชนสวนสมรมตามรอยพ่อ บ้านเขาวัง  ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายการวิจัยภูมิภาค ภาคใต้  นำโดย รศ.ดร. ก้าน จันทร์พรมมา   โดยมี ผศ.ดร. นุกูล ชิ้นฟัก และ ผศ.ดร.วรลักษณ์ ลลิตศศิวิมล  มหาวิทยาลัยหาดใหญ่  ผู้ดูแลศูนย์วิจัยชุมชนตำบลชะแล้รักษ์ชันโรง : อุง สร้างอาหารปลอดภัย ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา  เป็นวิทยากรในการให้ความรู้การเลี้ยงและการขยายพันธุ์ชันโรง พร้อมด้วย นายสิทธิพงศ์  สังข์เศรษฐ์  วิทยากรชุมชนผู้เลี้ยงชันโรงในสวนสละ  ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้คำแนะนำการเลี้ยงชันโรงของชุมชน โดยมีผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเลี้ยงชันโรงจากชุมชนบ้านเขาวังและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนประมาณ 25 คน  ซึ่งนอกจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การเลี้ยงและการขยายพันธุ์ชันโรงแล้ว  ยังได้เรียนรู้การตลาดและโอกาสการจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงจาก คุณวิทยา รัตนสุดใส จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านธารไม้แก้ว (JANELY FARM)  ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการส่งผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรงไปจำหน่ายยังประเทศจีน
          โดยในชุมชนบ้านเขาวังมีผู้ที่สนใจเริ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงอย่างจริงจัง คือ นายพรชัย โต๊ะโดย  ซึ่งเลี้ยงมาประมาณ 1 ปี มีการเลี้ยงหลากหลายสายพันธุ์และขยายพันธ์ด้วยตัวเอง จึงเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงชันโรงให้กับคนในชุมชนได้แวะเวียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นแบบอย่างที่จะเอาไปทดลองเลี้ยงในสวนของตนเอง  แต่ยังไม่เคยมีการเก็บน้ำผึ้งจากชันโรง  การจัดกิจกรรมครั้งนี้นอกจากช่วยให้คนที่สนใจมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงผึ้งชันโรงมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังได้เชื่อมเครือข่ายเกษตรกรที่เลี้ยงชันโรงทั้งในและนอกพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ด้วยกัน  ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันที่จะขยายผลการเลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่ชุมชนบ้านเขาวังในกลุ่มผู้สนใจให้ได้ 80 รัง ภายในปี 2566  พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิธีการเก็บน้ำผึ้งและการขยายรังผึ้งชันโรงของชุมชนบ้านเขาวังร่วมกันต่อไป  เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนได้เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนที่ทำสวนแบบผสมผสานหรือสวนสมรมให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ซึ่งชุมชนบ้านเขาวังมีภูมินิเวศและวิถีการทำเกษตรที่เหมาะสมกับการเลี้ยงผึ้งชันโรงเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังสามารถยกระดับครัวเรือนเกษตกรที่เลี้ยงอย่างจริงจังในชุมชนให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งชันโรง (อุง) ให้กับพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัด อีกด้วย
           ผึ้งชันโรง หรือ อุง เป็นผึ้งที่มีความพิเศษจากชนิดอื่นๆ คือ จะมีการนำยางจากต้นไม้ชนิดต่างๆ มาต่อเติมสร้างรังของตัวเองทำให้น้ำผึ้งมีสรรพคุณทางยาที่ดี และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำการเกษตรได้ว่าเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์  อีกทั้งน้ำผึ้งชันโรงมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้ อาทิ ยาหม่องขี้ผึ้งชันโรง พิมเสน ครีมบำรุงผิว สบู่  ด้านรสชาติน้ำผึ้งยังให้ความแตกต่างจากน้ำผึ้งชนิดอื่นเนื่องจากมีรสเปรี้ยวอมหวาน โดยผึ้ง 1-2 รังให้ผลผลิตน้ำผึ้ง ประมาณ 1 กิโลกรัม (กิโลกรัมละประมาณ 1,000 บาท) สร้างรายได้เป็นอย่างดีให้กับครัวเรือน ผึ้งชันโรงจึงสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ที่ควรส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพเพื่อส่งเสริมรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นเพื่อควบคู่ไปกับการเกษตรที่เกื้อกูลระบบนิเวศ

จำนวนคนดู: 49